วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ภาพเก่าเล่าขาน ตำนานเมืองศรีสะเกษ


ภาพเก่าเล่าขาน ตำนานเมืองศรีสะเกษ



                          ภาพแรกจากเขาพระวิหาร เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ ก่อนขึ้นศาลโลก

        ภาพเก่าๆบอกเล่าเรื่องราวของจังหวัดศรีสะเกษที่จัดแสดงในงาน "ภาพเก่าเล่าขานตำนานเมืองศรีสะเกษ" มาให้ได้ชมกัน ตามด้วยเกร็ดประวัติศาสตร์เมืองศรี   และเรื่องราวต่างๆที่ค้นคว้านำเสนอให้อ่านกันครับ เริ่มเรื่องแรกด้วยประวัติเมืองศรีสะเกษที่ผมเคยเขียนถึงในเอนทรี่แรกๆของผม ที่บอกว่า........ประวัติเมืองศรีสะเกษที่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร พบได้ในพงศาวดารไทยช่วงท้ายกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุง เป็นเรื่องการก่อตั้งเมืองศรีสะเกษในยุคแรก     (ศรีนครลำดวน) คราวนี้ผมเพิ่งไปอ่านตำราประวัติศาสตร์ของลาวเล่มหนึ่ง กล่าวถึงชื่อเมืองศรีสะเกษเอาไว้ด้วย    โดยชื่อปรากฏอยู่ในบันทึกการบริหารจัดการแผ่นดินของเจ้าสร้อยสีสมุทพุทธางกูรในขณะที่ขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าผู้ครองนครจำปาศักดิ์พระองค์แรก (พ.ศ.2256-2281) ได้ทรงตั้งเจ้าเมืองไปปกครองดูแลหัวเมืองในดินแดนปกครองของจำปาศักดิ์ ซึ่งปรากฏว่ามีชื่อเมืองศรีนครเขต (อยู่ที่เดียวกันกับศรีสะเกษในปัจจุบัน) เกี่ยวข้องอยู่ด้วย ผมสแกนมาให้ดูกันเล่นๆด้วยครับ

        ในข้อที่ 5. วงสีแดงๆไว้นั่นแหละครับ แปลได้ว่า..ให้จาน(อาจารย์)เซียงไปเป็นเจ้าเมืองศรีนครเขต อยู่ในเขตจังหวัดศรีสะเกษประเทศไทยบัดนี้ (ในศรีสะเกษมีรูปเมืองนครลำดำดวนอยู่) จากตรงนี้ทำให้ผมมั่นใจได้ว่าศรีสะเกษมีชื่องของเมืองปรากฏมานามมากแล้วครับ และอาจพ้องกับชื่องของเมืองโบราณในนิยายปรำปราของเมืองศรีสะเกษที่กล่าวถึงเมือง 3 เมืองในดินแดนแถบนี้ ได้แก่เมืองกตะศิลา เมืองอินทเกษ(ชื่อนี้ใกล้เคียงกับคำว่าศรีสะเกษ) และเมืองชีทวน โดยเมืองกตะศิลา และเมืองชีทวน มีการค้นพบแนวคูเมืองและแนวกำแพงเมืองในตำแหน่งที่มีการบอกเล่ากันมา โดยสิ่งที่ขุดค้นพบมีรูปแบบศิลปะที่เก่าแก่กว่าสมัยฟูนัน หรือเจนละ สันนิษฐานว่าน่าจะอยู่ในสมัยทวารวดี ทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะมีเมืองดังกล่าวอยู่จริง ส่วนเมืองอินทเกษหรือศรีสะเกษยังไม่มีการค้นพบแนวคูเมืองหรือแนวกำแพงแต่อย่างใด ผมเคยเขียนถึงเรื่องนี้ในเอนทรี่แรกๆ โดยคัดมาจากหนังสือของ อ.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ว่า..

        " การก่อตั้งชุมชนในสมัยโบราณของอีสานนั้น เชื่อกันว่ามีขนาดใหญ่เล็กกระจัดกระจายอยู่ในเขตพื้นที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง  ลุ่มแม่น้ำชี และลุ่มแม่น้ำมูล มีการก่อตั้งและฟักตัวมาหลายพันปี ผ่านการต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ของเผ่าพันธุ์ โดยการปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ต้องอพยพเพื่อค้นหาพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศที่ดี น้ำท่า ดินดี  แหล่งอาหารตามธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ จนสามารถสร้างและพัฒนาเป็นชุมชนขนาดใหญ่มากมายหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นชุมชนภายใต้การปกครอง การขยายอาณาเขต ของอาณาจักรฟูนัน อาณาจักรเจนละ อาณาจักรกัมโพช การผ่านเปลี่ยนในแต่ละยุคสมัย ชนพื้นเมืองต้องต่อสู้ผ่านความยากลำบาก และล้มตายไป เพื่อสนองความเชื่อด้วยการสร้างเทวสถานอันยิ่งใหญ่ของผู้มีอำนาจ แม้ว่าท้ายที่สุดอาณาจักรใหญ่เหล่านั้นก็แพ้ภัยตัวเอง เสื่อมอำนาจล่มสลายไป  แต่ชนพื้นเมืองก็ยังคงดำรงอยู่สืบต่อๆมา "

      ขออนุญาตจบเรื่องเกร็ดประวัติเมืองศรีสะเกษไว้ประมาณนี้ก่อนนะครับ เพราะยังมีเรื่องที่จะเขียนและจะพาชมภาพกันอีกครับ โดยสืบเนื่องจากทางวัฒนธรรมจังหวัดได้จัดงานแสดงภาพเก่า และเสวนาเรื่องตำนานเมืองศรีสะเกษ แล้วได้เชิญผมมาร่วมเสวนาด้วย ในงานนี้ทำให้ผมได้เห็นภาพเก่าๆที่น่าสนใจหลายภาพมากครับ จึงได้เอามาให้ชมกันพร้อมคำบรรยายตามสไตล์ผมนะครับ ส่วนเรื่องงานเสวนาก็เป็นการพูดคุยกันของท่านผู้ว่าฯ ที่ต้องการรับทราบเรื่องราวทางวัฒนธรรม และการแสดงความคิดเห็นของผู้รู้ด้านต่างๆทางวัฒนธรรมครับ  ภาพที่เอามาให้ชมผมจะแบ่งเป็นกลุ่มๆนะครับ ชุดแรกขอนำเสนอเรื่องราวร้อนๆก่อนเลยครับ เป็นภาพชุดปราสาทพระวิหารเก่าๆและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องครับ
ภาพที่ 1

ภาพที่ 2
ภาพที่ 3
ภาพที่ 4

             สี่ภาพแรกนี้เป็นการเสด็จมาปราสาทพระวิหารของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งในขออ้างในคำให้การสมัยคดีความปี 2505 ผมนำภาพมาให้ดูบรรยากาศสมัยโน้นครับ ต้องเดินทางข้ามป่าข้ามเขารอนแรมมาด้วยช้าง หนทางน่าจะลำบากมาก นี่ขนาดเป็นฝั่งไทยที่ทางลาดลงมานะครับ ลองนึกภาพดูว่าถ้าเป็นทางฝั่งเขมรมันจะขึ้นมากันยังไงเนี่ยสมัยนั้น

              การเสด็จมาในครั้งนี้ของพระองค์ท่านทำให้เมืองศรีสะเกษมีการปรับปรุงตัวเมืองทำถนนเพื่อรับเสด็จ และทางคณะที่เสด็จมาได้ปลูกพลับพลาที่ประทับ ณ ริมห้วยฝั่งตรงข้ามกับตัวเมือง (ห้วยสำราญ) ทำให้ต่อมาพื้นที่นั้นใช้เรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านโนนสำนัก ห้วยที่ทรงลงอาบน้ำ ก็เรียกว่าห้วย(พระเกษม)สำราญ
     

        ภาพนี้เป็นการเดินขบวนประท้วงเขมรในกรณีข้อพิพาทปราสาทพระวิหารเมื่อพ.ศ.2504 ก่อนจะมีการตัดสินของศาลโลกครับ เป็นการประท้วงที่อ.ขุนหาญ ซึ่งการเดินขบวนประท้วงแบบนี้มีทุกพื้นที่ในศรีสะเกษครับ

     ภาพของขุนศรี ขุขันธ์เขต(ชม รัตนา)ผู้เฝ้าถ้ำขุนศรีใกล้สระตราว เขาพระวิหาร เป็นผู้ดูแลปราสาทคนสุดท้ายครับ

                                                           โปสการ์ดจากภาพถ่ายพระวิหาร

ธงชาติไทยที่เป้ยตาดีครับ จริงๆแล้วมีเป็นสิบๆรูปเลยครับ

  ทางขึ้นปราสาทเขาพระวิหาร

เจ้าของถาพบอกว่าถ่ายไว้ตั้งแต่ก่อนพ.ศ.2500 แต่จำปีที่แน่นอนไม่ได้ครับ

             รูปนี้เป็นไฮไลท์ของงานอีกรูปหนึ่ง เพราะรูปนี้คือตำนานครับ รูปนี้เป็นอุบัติเหตุรถทัศนาจรของโรงเรียนหนึ่งนำคณะครูนักเรียนไปเขาพระวิหาร ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ มีครูผู้หญิงท่านหนึ่งกระโดดออกจากตัวรถขณะที่รถกำลังเอียงจึงถูกรถทับเสียชีวิต ส่วนคนอื่นๆในรถไม่มีใครเป็นอะไรเลย ครูท่านนั้นชื่อว่า "แดง" สถานที่แห่งนั้นจึงตั้งชื่อว่า "ผามออีแดง" ครับ

                 ภาพในชุดต่อมาผมนำภาพเก่าๆจากหลายๆแห่งของเมืองมาให้ชมครับ

           ปราสาทตำหนักไทร อ.ขุนหาญ 2505 จากรูปที่เห็นผมเพิ่งผ่านไปแวะดูเมื่อไม่กี่ปีก่อน จำได้ว่าไม่เห็นสิงห์ตัวที่ตั้งอยู่ด้านหน้าแล้วนะครับ หายไปไหนน้อ...ใครรู้ช่วยบอกทีครับ

        น้ำตกบักดอง ที่อ.ขุนหาญครับ สมัยนั้นยังไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักของศรีสะเกษ ยังดูบริสุทธิ์มากเลยครับ


      ในภาพนี้คือถนนกลางเมืองราษีไศลเมื่อห้า-หกสิบมาแล้วครับ ยังเป็นดินทราย+ลูกรังอยู่เลยครับ ราษีไศลเป็นเมือง

          ริมแม่น้ำมูล การเดินทางติดต่อราชการกับตัวจังหวัดต้องลงเรือข้ามฟากเอา ในภาพเป็นสมัยที่ยังไม่มีสะพานครับ
หาดทรายริมน้ำมูลราษีไศลในยุคเดียวกับภาพด้านบนครับ ในภาพจะเห็นเรือซึ่งชาวราษีไศลใช้เดินทางติดต่อทำมาค้าขายกับเมืองอื่นครับ ริมน้ำมูลปี2509 จะเห็นตัวแม่น้ำที่กว้างและลึก ต่างจากในปัจจุบันมากครับ (ลองไปดูได้ที่เอนทรี่แรกของผมครับ)


     ที่ว่าการอำเภอขุขันธ์เมื่อปี 2483 กำลังมีการจัดงานประเพณีของอำเภอครับ จวนผู้ว่าสมัยที่ยังเรียกว่าจังหวัดขุขันธ์ครับ
     กลุ่มผู้มารับเสด็จในหลวงเมื่อปี2495 ถ่ายรูปร่วมกันที่ป้ายสถานีรถไฟศรีสะเกษครับ ภาพชุดในหลวงเสด็จศรีสะเกษผมเคยนำเสนอไปบางส่วนแล้วครับ ตอนนี้ได้ภาพมาเพิ่มครบแล้ว กะว่าจะเขียนเป็นเอนทรี่ใหม่เลยเพราะมีภาพเยอะมาก หลายสิบภาพครับ จะเผยแพร่เพื่อให้ลูกหลานเมืองศรีสะเกษได้รับรู้และชื่นชมครับ

ต้นตาลเก้ายอดที่อำเภอขุขันธ์ครับ อายุยืนคู่กับเจ้าเมืองขุขันธ์มาถึงเก้าท่านเลยทีเดียวครับ

          รร.สตรีสิริเกศ ปีพ.ศ.2506 เป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดคู่กับศรีสะเกษวิทยาลัย(ขุขันธ์ราษฎร์รังรักษ์)โรงเรียนชายประจำจังหวัดครับ


วงเวียนแม่ศรีสระผมที่หน้าสถานีรถไฟศรีสะเกษ เมื่อปี2515 เรือนแถวหลังคาสังกะสีที่เห็นปัจจุบันกลายเป็นตึกแถวสูงๆไปหมดแล้วครับ
พระอุโบสถวัดหลวงสุมังคลาราม วัดฝ่ายธรรมยุตต์ เมื่อปี 2518 ในภาพเป็นงานบวชครับ

งานตักบาตรเทโว ปี2518 ที่วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม วัดฝ่ายมหานิกายครับ

           งานบวชสมัยก่อนในศรีสะเกษมีการนำช้างมาร่วมขบวนด้วย เพราะศรีสะเกษก็มีชาวส่วยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีวิถีชีวิตผูกพันกับช้างครับ

ส่วนภาพนี้เป็นงานศพเมื่อ 10 ก.พ.2483 น่าจะเป็นศพพระผู้ใหญ่ หรือคนใหญ่คนโตในบ้านเมืองสักคนครับ

         ภาพสุดท้ายเป็นภาพถ่ายจากคุ้มในตัวเมืองศรีสะเกษครับผมจำรายละเอียดของคนในภาพไม่ได้ครับแล้วจะค้นมานำเสนออีกทีครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น