วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน


            ราชวงศ์ทิพย์จักร หรือ ทิพจักราธิวงศ์ หรือ ราชวงศ์เจ้าเจ็ดตน เป็นราชวงศ์ที่ปกครองนครลำปาง นครเชียงใหม่ และนครลำพูน

ราชวงศ์ทิพย์จักร ได้รับการสถาปนาขึ้นในปลายรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระแห่งอาณาจักรอยุธยา โดย " หนานทิพช้าง " ควาญช้าง และพรานป่าผู้มีความสามารถ ได้ปราบดาภิเษกขึ้นครองนครลำปาง มีพระนามว่าพระญาสุลวะฦๅไชย ต่อมาได้รับการเฉลิมพระนามจากราชสำนักกรุงอังวะเป็นพระยาไชยสงคราม ถือเป็นนครรัฐอิสระในปี พ.ศ. 2275

เมื่อถึงแก่พิราลัย เจ้าชายแก้วพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒ ได้ขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าฟ้าชายแก้ว ซึ่งในช่วงดังกล่าวนครลำปางมีฐานะเป็นประเทศราชของพม่า โดยพระเจ้ากรุงอังวะได้โปรดฯ เฉลิมพระนามให้เป็นเจ้าฟ้าสิงหาราชธานีเจ้าฟ้าหลวงชายแก้ว


เจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครลำปาง

เจ้ากาวิละ เจ้าผู้ครองนครลำปาง พระโอรสพระองค์ใหญ่ของเจ้าฟ้าชายแก้ว ได้ร่วมกับพระอนุชาทั้ง 6 พระองค์ และ "พระยาจ่าบ้าน" เจ้านครเชียงใหม่ กอบกู้ล้านนาภายใต้การสนับสนุนจากทัพหลวงของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ในปี พ.ศ. 2317 ซึ่งในครั้งนั้นได้โปรดฯ ให้ "เจ้าพระยาจักรี"และ "เจ้าพระยาสุรสีห์" ยกกองทัพไปช่วยปราบพม่า เมื่อยึดนครเชียงใหม่ และนครลำปางได้แล้ว จึงโปรดฯ ให้พระยาจ่าบ้านเป็นพระยาวิเชียรปราการครองนครเชียงใหม่ และเจ้ากาวิละเป็นพระยานครลำปาง ในการรบครั้งนั้น เจ้าพระยาสุรสีห์ได้พบรักกับเจ้าศรีอโนชา พระขนิษฐาของพระยากาวิละ และได้ทูลขอจากเจ้าฟ้าชายแก้ว ซึ่งต่อมาเจ้าหญิงศรีอโนชาได้สร้างวีรกรรมสำคัญยิ่งในการปกป้องพระนครจากพระยาสรรค์ ซึ่งก่อการกบฏต่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งขณะนั้นเจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ พระสวามีติดการสงครามที่เขมร หลังจากปกป้องพระนครเสร็จ ได้เชิญเจ้าพระยาจักรีกลับพระนครและปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ในคราเดียวกันนั้นได้โปรดฯ สถาปนา "เจ้าพระยาสุรสีห์" พระอนุชาขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท โปรดฯให้ พระยากาวิละขึ้นครองนครเชียงใหม่ (ซึ่งขณะนั้นได้กลายเป็นเมืองร้าง เนื่องจากพม่าได้เข้ามารุกรานจนพระยาจ่าบ้านต้องพาประชาชนอพยพหนี) โปรดฯ ให้พระยาคำโสม พระอนุชาพระองค์ที่ 2 ขึ้นครองนครลำปาง และ โปรดฯ ให้ เจ้าคำฝั้น พระอนุชาพระองค์ที่ ๓ ขึ้นครองนครลำพูน ตลอดต้นรัชสมัยที่ครองนคร เจ้ากาวิละได้ร่วมกับพระอนุชาทั้ง 6 พระองค์ กระทำการสงครามเพื่อขยายขอบเขตขัณฑสีมาออกไปอย่างขจรขจาย ได้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินจากหัวเมืองต่าง ๆ เพื่อนำกลับมาสร้างบ้านแปงเมือง รวมทั้งได้ทรงรื้อฟื้นโบราณราชประเพณีทุกอย่างให้กลับมายิ่งใหญ่เหมือนสมัยราชวงศ์มังรายครองอาณาจักรล้านนา ด้วยพระปรีชาสามารถ และความจงรักภักดีต่อพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงโปรดฯ เฉลิมพระอิสริยยศพระยากาวิละขึ้นเป็นพระบรมราชาธิบดี พระเจ้านครเชียงใหม่ เป็นใหญ่ในล้านนา 57 หัวเมือง

ราชวงศ์ทิพย์จักร ถือเป็นราชวงศ์ล้านนาที่เชื่อมความสัมพันธ์กับพระราชวงศ์ล้านนาอันเก่าแก่เดิม อันได้แก่ ราชวงศ์มังรายอันมีพญามังรายมหาราชเป็นองค์ปฐมวงศ์ และราชวงศ์พะเยา พญางำเมือง ด้วยระบบความสัมพันธ์ฉันท์เครือญาติ

นอกจากนั้น เจ้านายในพระราชวงศ์ทิพย์จักรยังได้อภิเษกสมรสกับพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์ พระองค์ที่มีบทบาทสำคัญ ได้แก่ เจ้าศรีอโนชา พระอัครชายา และเจ้าดารารัศมี พระราชชายา ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสองพระราชวงศ์ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถือเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้พระราชอาณาจักรล้านนาเดิมได้เข้ารวมกับสยามประเทศอย่างสมบูรณ์

การที่ไทยในสยามประเทศสามารถรวมกันได้ เพราะอาศรัยพระบรมเดชานุภาพของพระบาทสมเด็จฯพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทราชอนุชาเป็นต้นเค้า ก็เป็นความจริง แต่สมควรจะยกย่องผู้เป็นหัวหน้าของชาวมณฑลพายัพในสมัยนั้นด้วย คือเจ้าเจ็ดตนอันเป็นต้นตระกูลวงศ์ของเจ้านายเมืองเชียงใหม่ เมืองนครลำปางและเมืองลำพูน กับทั้งเจ้าเมืองน่านที่ได้เป็นบรรพบุรุษของเจ้านายในเมืองนั้น ที่ได้สามิภักดิ์แล้วช่วยรบพุ่งข้าศึกเป็นกำลังอย่างสำคัญ...จึงทรงพระกรุณาโปรดยกย่องวงศ์สกุลเจ้าเจ็ดตน และสกุลเจ้าเมืองน่านให้มียศเป็นเจ้าสืบกันมา ด้วยเป็นสกุลคู่พระบารมีของพระบรมราชจักรีวงศ์มาตั้งแต่ปฐมกาล




จ้านายฝ่ายเหนือ ขณะเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ. 2501


        เจ้านายสยามประเทศมีพระบรมราชจักรีวงศ์ปกครองประเทศมาตั้งแต่ พ.ศ.2325 แต่ราชวงศ์ “ทิพจักราธิวงศ์” ของผู้ครองนครฝ่ายเหนือซึ่งเป็นนครเอกราชนั้น มีมาตั้งแต่ พ.ศ.2275

        ระหว่างปี พ.ศ.2272 – 2275 ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าบรมโกฏิ กษัตริย์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น ล้านนาไทยเกิดการจราจลรบราฆ่าฟันกันทั่วไป หาความสงบสุขมิได้ นครลำปางมีแต่พ่อเมืองควบคุมกันเองปล่อยให้สถานการณ์เสื่อมทรามลงเรื่อย ๆ ทางนครลำพูนก็ฉวยโอกาสให้ท้าวมหายศ ซึ่งเป็นพม่าครองเมืองเป็นแม่ทัพคุมไพร่พลไปตีเมืองลำปางได้ พระอธิการวัดชมพู ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่นับถือของชาวลำปาง จึงคบคิดกับพ่อเมืองกอบกู้บ้านกลับคืนมา กลุ่มผู้ที่คิดกู้ชาติจึงพร้อมใจกันเลือก “หนานทิพจักรวเนจร” ราษฎรสามัญผู้มีสติปัญญา และกล้าหาญชาญชัย ทั้งยังเคยเป็น หมอโพน ช้างป่ามาก่อน จนชาวบ้านตั้งสมญานามว่า “หนานทิพช้าง”

        หนานทิพช้างนำไพร่พลออกรบกับท้าวมหายศ ซึ่งตั้งกองทัพอยู่ที่วัดลำปางหลวง ได้ต่อสู้กันจนที่สุดท้าวมหายศแตกพ่ายหนีไป เมื่อสิ้นสงครามแล้ว ชาวเมืองลำปางจึงสถาปนาหนานทิพช้างขึ้นเป็น “เจ้าพระยาสุละวะฤาชัยสงคราม” เป็นผู้ครองเมืองลำปางในปี พ.ศ.2275

        หลังจากที่ได้มีการแต่งตั้งเจ้านายในราชสำนักฝ่ายเหนือแล้วก็ได้มีการสร้างที่พำนัก หรือ “คุ้ม” ซึ่งเป็นที่อยู่ของเจ้าผู้ครองนครตามตำแหน่งเจ้าศักดินาขันห้าใบ คือ เจ้าผู้ครองนคร, เจ้าอุปราช, เจ้าราชวงศ์, เจ้าบุรีรัตน์, เจ้าราชบุตร ส่วนเจ้านายบรรดาศักดิ์รองลงไปไม่นิยมเรียกที่พำนักว่าคุ้ม ส่วน “เวียงแก้ว หอคำ และคุ้มหลวง” เป็นที่ประทับและทรงงานของกษัตริย์ เจ้าผู้ครองนคร ซึ่งจะมีอาณาบริเวณกว้างขวางและมีอาคารหลายหลังเชื่อมต่อกันจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน เคยเป็นหัวเมืองในอาณาจักรล้านนามาก่อนมีเจ้าผู้ครองนครปกครองมาแล้วหลายพระองค์


เจ้าแก้วนวรัฐ ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 9

เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ทั้ง 9 เป็นทายาทของหนานทิพย์ช้าง  หรือพระยาสุลวะฤาไชยสงครามผู้ซึ่งเป็นวีรบุรุษแห่งเขลางค์นคร (ลำปาง) เจ้าผู้ครองนครลำปาง (พ.ศ. 2257-2302) ต้นตระกูลเชื้อเจ็ดตน ในสมัยที่เมืองเชียงใหม่ เป็นประเทศราชของอาณาจักรธนบุรี เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาประเทศราช” โดยมีพระยาวิเชียรปราการ (บุญมา) เป็นพระยาเชียงใหม่องค์แรก (ครองเมืองปี พ.ศ.2317-2319 แต่หลายตำราอาจไม่นับเป็นเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่) ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์มีพระยาเชียงใหม่บางองค์ได้รับสถาปนาเป็น “พระเจ้าประเทศราช” เป็นกรณีพิเศษ เช่น พระเจ้ากาวิละ และพระเจ้ามโหตรประเทศ จนวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2399 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงสถาปนาพระยาประเทศราชในราชวงศ์ทิพย์จักรทั้งสามองค์ คือ พระยาเชียงใหม่ พระยาลำปาง และพระยาลำพูน ขึ้นเป็น “เจ้าประเทศราช” สืบมาจนถึงเจ้าแก้วนวรัฐ ผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 9 ซึ่งเป็นองค์สุดท้าย


เจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต

เจ้าผู้ครองนครลำปาง เป็นตำแหน่งที่เริ่มมาตั้งแต่สมัยอาณาจักรหริภุญชัย โดยกษัตริย์พระองค์แรกของนครลำปางคือพระเจ้าอนันตยศสมัยรัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี เชื้อสายเจ้าเจ็ดตนได้ครองนครลำปางจนถึง พ.ศ. 2465 ในสมัยเจ้าบุญวาทย์วงศ์มานิต

เจ้าราชบุตร (แก้วเมืองพวน ณ ลำปาง)  เป็นผู้รั้งตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครลำปาง ต่อมาถึงแก่พิราลัยใน พ.ศ. 2468 ซึ่งหลังจากยุคสมัยเจ้าราชบุตรแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่าทางรัฐบาลสยามได้แต่งตั้งเจ้าผู้ครองนครลำปาง

 

เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์เจ้าหลวงองค์สุดท้ายนครลำพูน

เมืองลำพูน มีเจ้าหลวงปกครองมาทั้งสิ้น 10 พระองค์ จนถึงสมัยเจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้าย ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

 เจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ 

เจ้าผู้ครองนครแพร่ ราชวงศ์เทพวงศ์ หรือ ราชวงศ์แพร่ เป็นราชวงศ์ที่สืบเชื้อสายมาจาก พระยาเทพวงศ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ยุคประเทศราชของสยาม ที่ปกครองนครแพร่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2330 มาจนถึง พ.ศ. 2445 ได้เกิดความไม่สงบขึ้นในเมืองนครแพร่ โดยพวกไทใหญ่หรือเงี้ยวได้ทำการก่อจลาจลในเมืองนครแพร่ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ เจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่ ถูกกล่าวหาว่าสมคบกับพวกเงี้ยว ท่านจึงหลีภัยไปเมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว และได้พำนักอยู่ที่นั่นจนกระทั่งพิราลัย ในปี พ.ศ. 2455 หลังจากนั้นทางราชสำนักสยาม ก็มิได้แต่งตั้งผู้ใดขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครแพร่อีก จึงถือเป็นการสิ้นสุดตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ราชสกุลผู้สืบเชื้อสายเจ้าผู้ครองนครแพร่ มีทั้งหมด 31 ราชสกุล ถึงไม่มีราชสกุล ณ แพร่ แต่รวมกันเรียกว่า วงศ์วรญาติ เทียบเท่าราชสกุล ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ ลำปาง และ ณ น่าน ในหัวเมืองฝ่ายเหนือ

เจ้ามหาพรหมสุรธาดา ผู้ครองนครองค์สุดท้ายของนครน่าน

        เจ้าผู้ครองนครน่าน มหาอำมาตย์โท เจ้ามหาพรหมสุรธาดา มีนามเดิมว่า มหาพรหม สกุล ณ น่าน ประสูติเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2389 เป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 64 และเป็นเจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 14 ในราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ เป็นราชโอรสในเจ้าอนันตวรฤทธิเดชกับแม่เจ้าขอดแก้ว เป็นพระอนุชาต่างเจ้ามารดากับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช

เจ้ามหาพรหมสุรธาดา ถึงแก่พิราลัย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2474 สิริรวมอายุได้ 84 ปี ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองนครองค์สุดท้ายของนครน่าน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น