วันอังคารที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เรื่องราวความรักเกี่ยวกับคนและจระเข้

 ไกรทอง เป็นนิทานพื้นบ้านภาคกลางของไทย ที่มีตัวเอกชื่อ ไกรทอง เล่าไว้หลายสำนวนด้วยกัน ภายหลังในสมัยรัชกาลที่ 2 ได้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นบทละครสำหรับละครนอก และได้รับความนิยม ยกย่องเป็นฉบับมาตรฐานฉบับหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวความรักเกี่ยวกับคนและจระเข้



เรื่องย่อ

กาลครั้งหนึ่ง มีถ้ำแก้ววิเศษเป็นที่อยู่ของจระเข้ (ใต้) ในถ้ำมีลูกแก้ววิเศษที่ส่องแสงดุจเวลากลางวัน จระเข้ทุกตัวที่เข้ามาในถ้ำจะกลายเป็นมนุษย์ มีท้าวรำไพ เป็นจระเข้เฒ่าผู้ทรงศีล ไม่กินเนื้อมนุษย์ และสัตว์ มีบุตรชื่อ ท้าวโคจร ซึ่งนิสัยแตกต่างจากพ่อโดยสิ้นเชิง ท้าวโคจรมีบุตรชื่อ ชาละวัน วันหนึ่ง ท้าวโคจร เกิดทะเลาะวิวาท กับท้าวแสนตา และพญาพันวัง (เหนือ)  ท้าวโคจรโกรธที่ท้าวแสนตาฆ่าลูกน้องของตนจึงเข้ามาขอท้าสู้ แต่ท้าวแสนตาก็ไม่อาจสู้กำลังของท้าวโคจรได้ พญาพันวังโมโหที่ท้าวโคจรฆ่าพี่ชายของตนจึงขึ้นมาสู้กับท้าวโคจร สุดท้ายทั้งสามก็จบชีวิตลงจากบาดแผลที่เกิดจากการสู้รบกัน

หลังจากนั้น พญาชาละวัน บุตรของท้าวโคจร ก็ได้ขึ้นเป็นผู้ปกครองถ้ำบาดาลโดยไม่มีใครกล้าท้าทายอำนาจ และได้จระเข้สาวสองตัวเป็นเมียคือ วิมาลา กับ เลื่อมลายวรรณ ด้วยความลุ่มหลงในอำนาจ ชาละวันจึงมีนิสัยดุร้ายต้องการกินเนื้อมนุษย์ และไม่รักษาศีลเหมือนท้าวรำไพผู้เป็นปู่แต่อย่างใด เพราะถือว่าตนเป็นผู้ปกครองถ้ำ มีอำนาจอยากจะทำอะไรก็ได้



ณ เมืองพิจิตร มีเหตุการณ์จระเข้อาละวาดออกมากินคนที่อยู่ใกล้คลอง วันหนึ่ง พี่น้องคู่หนึ่ง ชื่อนางตะเภาแก้ว ผู้พี่ และนางตะเภาทอง ผู้น้อง ทั้งสองเป็นธิดาของเศรษฐี อยากที่จะลงไปเล่นน้ำที่คลอง เศรษฐีห้ามแต่สองพี่น้องก็ยังรบเร้าที่จะไปโดยบอกว่ามีพี่เลี้ยงลงไปด้วย เศรษฐีจึงใจอ่อนยอมให้ตะเภาแก้วและตะเภาทองลงไปเล่นน้ำ ในเวลานั้น ชาละวัน ซึ่งกลายร่างเป็นจระเข้ยักษ์นิสัยอันธพาล ได้ออกจากถ้ำอาละวาดล่าหามนุษย์เป็นเหยื่อ สร้างความวุ่นวายไปทั่วเมือง และได้ว่ายน้ำผ่านมาเห็นตะเภาทองที่แม่น้ำแถวบ้านท่านเศรษฐี ก็เกิดความลุ่มหลงทันทีจึงคาบตะเภาทองแล้วดำดิ่งไปยังถ้ำทองด้วยความเหิมลำพอง



เมื่อนางตะเภาทองฟื้นขึ้นมา ก็ตกตะลึงในความสวยของถ้ำ และได้เห็นพญาชาละวัน ซึ่งกลายร่างเป็นชายรูปงาม ชาละวันเกี้ยวพาราสีแต่นางไม่สนใจ ชาละวันจึงใช้เวทมนตร์สะกดให้นางหลงรักและยอมเป็นภรรยา เมียของชาละวันคือ วิมาลา และเลื่อมลายวรรณ เห็นก็ไม่พอใจและหึงหวงแต่ก็ห้ามสามีไม่ได้

ท่านเศรษฐีเสียใจมาก จึงประกาศไปว่าใครที่พบศพนางตะเภาทอง และสามารถปราบจระเข้ตัวนี้ได้จะมอบสมบัติของตนเองให้ครึ่งหนึ่ง และจะให้แต่งงานกับนางตะเภาแก้ว แต่ไม่ว่าจะมีผู้มีอาคมอาคมมาปราบชาละวันกี่คน ก็จะตกเป็นเหยื่อให้ชาละวันเอาไปนั่งกินเล่นทุกราย และแล้วก็ได้ ไกรทอง หนุ่มรูปหล่อจากเมืองนนทบุรี ซึ่งได้ร่ำเรียนวิชาการปราบจระเข้จากอาจารย์คง จนมีความเก่งกล้า ฤทธิ์อาคมแกร่ง ได้รับอาสามาปราบชาละวัน

ก่อนพบเจอเหตุร้าย ชาละวันได้นอนฝันว่า มีไฟลุกไหม้และน้ำท่วมทะลักเข้าถ้ำ เกิดแผ่นดินไหวแปรปรวน ทันใดนั้น ได้ปรากฏร่างเทวดาฟันคอชาละวันขาดกระเด็น จึงได้นำความฝันไปบอกกล่าวกับปู่ท้าวรำไพ เพราะเหตุการณ์ในความฝันเป็นลางร้าย ชาละวันต้องจำศีลในถ้ำ 7 วัน ถ้าออกไปนอกถ้ำจะพบภัยพิบัติถึงชีวิต วิมาลาจึงรับสั่งให้บริวารจระเข้คาบก้อนหินมาปิดปากถ้ำเอาไว้ เพื่อไม่ให้มนุษย์เข้ามาในถ้ำ

รุ่งเช้าไกรทองเริ่มตั้งพิธีบวงสรวงพร้อมท่องคาถา ทำให้ชาละวันเกิดอาการร้อนรุ่ม วิมาลาได้แต่คอยปลอบใจให้ชาละวันอดทนเข้าไว้ แต่สุดท้ายชาละวันก็ต้องออกจากถ้ำ แปลงกายเป็นจระเข้ขึ้นมาบนผิวน้ำเพื่อต่อสู้กับไกรทอง การต่อสู้ของคนกับจระเข้จึงเริ่มขึ้นไกรทองกระโดดขึ้นบนหลังจระเข้ชาละวันอย่างรวดเร็วและแทงด้วยหอกสัตตโลหะ ทำให้อาคมของเขี้ยวเพชรเสื่อม หอกอาคมได้ทิ่มแทงชาละวันจนบาดเจ็บสาหัส และมันได้รีบหนีกลับไปที่ถ้ำทองทันที

แต่ไกรทองก็ใช้เทียนระเบิดน้ำเปิดทางน้ำ ตามลงไปที่ถ้ำทันที วิมาลา และเลื่อมลายวรรณต้องการของร้องให้ปู่ท้าวรำไพช่วย แต่ท้าวรำไพก็ไม่สามารถช่วยได้ เมื่อมาถึงถ้ำไกรทองได้พบกับ วิมาลา ด้วยความเจ้าชู้จึงเกี้ยวพาราสีจนนางใจอ่อนยอมเป็นชู้ จนนางตกใจวิ่งหนีเข้าถ้ำ ไกรทองจึงตามนางไป ส่วนชาละวันที่นอนบาดเจ็บอยู่ก็รีบออกมาจากที่ซ่อนตัวและได้ต่อสู้กับไกรทองต่อในถ้ำ จนชาละวันสู้ไม่ไหวในที่สุดก็พลาดเสียท่าถูกแทงจนสิ้นใจตายตรงนั้น (บางสำนวนก็บอกว่า ชาละวันถูกหอกอาคมของไกรทองแทงกลางหลัง แล้วร่างก็เปลี่ยนเป็นจระเข้ยักษ์นอนตายอยู่กลางถ้ำทอง) และไกรทองก็ได้พานางตะเภาทองกลับขึ้นมา เศรษฐีดีใจมากที่ลูกสาวยังไม่ตาย จึงจัดงานแต่งงานให้ไกรทองกับนางตะเภาแก้ว พร้อมมอบสมบัติให้ครึ่งหนึ่ง แถมนางตะเภาทองให้อีกคน

ใจของไกรทองกลับนึกถึงนางวิมาลา จึงไปหาอยู่กินด้วย โดยทำพิธีทำให้นางยังคงเป็นมนุษย์แม้ออกนอกถ้ำทอง นางตะเภาแก้วและนางตะเภาทอง จับได้ว่า สามีไปมาหาสู่ นางจระเข้จึงไปหาเรื่องกับนางในร่างมนุษย์จนนางวิมาลาทนไม่ไหวกลับ ร่างเป็นจระเข้และไกรทองต้องออกไปห้ามไม่ให้เมียตีกันและอำลาจากนางวิมาลาด้วยใจอาวรณ์ สุดท้ายไกรทองก็ปรับความเข้าใจได้กับทั้งสองฝ่าย ทั้งมนุษย์และจระเข้อยู่อย่างสันติ

เรื่องย่อ




[แก้]


ภาพการชิงตัวตะเภาแก้ว และตะเภาทอง ของชาละวัน ที่วัดอัมพวันเจติยาราม


ตำนานจระเข้ชาละวัน


[แก้]

ตำนานจระเข้ชาละวัน



วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ชาละวัน เป็นจระเข้ใหญ่เลื่องชื่อแห่งแม่น้ำน่าน

 

ชาละวัน เป็นจระเข้ใหญ่เลื่องชื่อแห่งแม่น้ำน่านเก่าเมืองพิจิตร สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในสมัยที่พิจิตรมีเจ้าเมืองปกครอง ตามตำนานกล่าวว่า มีตายายสองสามีภรรยา ออกไปหาปลาพบไข่จระเข้ ที่สระน้ำแห่งหนึ่ง จึงเก็บมาฟักเป็นตัวแล้วเลี้ยงไว้ในอ่างน้ำ เพราะยาย อยากเลี้ยงไว้แทนลูก ต่อมาจระเข้ตัวใหญ่ขึ้นจึงนำไปเลี้ยงไว้ในสระใกล้บ้านหาปลามาให้เป็นประจำ ต่อมาตา ยาย หาปลามาให้เป็นอาหารไม่พออิ่ม จระเข้ตัวนั้นจึงกินตา ยาย เป็นอาหาร เมื่อขาดคนเลี้ยงดูให้อาหาร จระเข้ใหญ่จึงออกจากสระไปอาศัยอยู่ในแม่น้ำน่านเก่าซึ่งอยู่ห่างจากสระตา ยายประมาณ 500 เมตร

แม่น้ำน่านเก่าในสมัยนั้นยังอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลานานาชนิด และมีน้ำบริบูรณ์ตลอดปี ขณะนั้นไหลผ่านบ้านวังกระดี่ทอง บ้านดงเศรษฐี ล่องไปทางใต้ ไหลผ่านบ้านดงชะพลู บ้านคะเชนทร์ บ้านเมืองพิจิตรเก่า บ้านท่าข่อย จนถึงบ้านบางคลาน จระเข้ใหญ่ก็เที่ยวออกอาละวาดอยู่ในแม่น้ำตั้งแต่ย่านเหนือ เขตวังกระดี่ทอง ดงชะพลู จนถึงเมืองเก่า แต่ด้วยจระเข้ใหญ่ของตา ยาย ได้เคยลิ้มเนื้อมนุษย์แล้ว จึงเที่ยวอาละวาดกัดกินคนทั้งบนบก และในน้ำไม่มีเว้นแต่ละวัน จึงถูกขนานนามว่า "ไอ้ตาละวัน" ตามสำเนียงภาษาพูดของชาวบ้านที่เรียกตามความดุร้ายที่มันทำร้ายคน ไม่เว้นแต่ละวัน ต่อมาก็เรียกเพี้ยนเสียงเป็น "ไอ้ชาละวัน" และเขียนเป็น "ชาลวัน" ตามเนื้อเรื่องในพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย



ชื่อของชาละวัน แพร่สะพัดไปทั่วเพราะเจ้าชาละวันไปคาบเอาบุตรสาวคนหนึ่งของเศรษฐี เมืองพิจิตรขณะกำลังอาบน้ำอยู่ที่แพท่าน้ำหน้าบ้าน เศรษฐีจึงประกาศให้สินบนหลายสิบชั่ง พร้อมทั้งยกลูกสาวที่มีอยู่อีกคนหนึ่งให้แก่ผู้ที่ฆ่าชาละวันได้ ไกรทอง พ่อค้าจากเมืองล่าง สันนิษฐานว่าจากเมืองนนทบุรี รับอาสาปราบจระเข้ใหญ่ด้วยหอกลงอาคมหมอจระเข้ ถ้ำชาละวันสันนิษฐานว่าอยู่กลางแม่น้ำน่านเก่า ปัจจุบันอยู่ห่างจากที่พักสงฆ์ถ้ำชาละวัน บ้านวังกระดี่ทอง ตำบลย่านยาว ไปทางใต้ประมาณ 300 เมตร ทางลงปากถ้ำเป็นโพรงลึกเป็นรูปวงกลมมีขนาดพอดี จระเข้ขนาดใหญ่มากเข้าได้อย่างสบาย คนรุ่นเก่าได้เล่าถึงความใหญ่โตของชาละวันว่า เวลามันอวดศักดาลอยตัวปริ่มน้ำขวางคลอง ลำตัวของมันจะยาวคับคลอง กล่าวคือ หากหัวอยู่ฝั่งนี้ หางจะอยู่อีกฝั่ง เรื่องชาละวันเป็นเรื่องที่เลื่องลือมาก จนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้ทรงพระราชนิพนธ์บทละครนอกเรื่อง "ไกรทอง" และให้นามจระเข้ใหญ่ว่า "พญาชาลวัน"



ส่วนนายไกรทองหมอปราบจระเข้ สันนิษฐานตามหลักฐานว่า เป็นบุคคลที่มาจากเมืองนนทบุรี ประกอบอาชีพค้าขายทางน้ำ และเคยรับอาสาปราบจระเข้ยักษ์ที่คร่าชีวิตคนในพิจิตร และภายหลังชาวเมืองนนทบุรีได้ทราบข่าวการสร้างวีรกรรมปราบจระเข้ที่เมืองพิจิตร และได้สร้างศาสนสถานขึ้นคือ วัดบางไกรใน เพื่อเป็นเกียรติแก่ความหาญกล้าของไกรทอง

จันทโครบ วรรณคดีที่คนไทยรู้จักมาช้านาน


 นิทานคำกลอนเรื่องจันทโครบ เป็นวรรณคดีที่คนไทยรู้จักมาช้านาน

รื่องจันทโครบ นี้ กล่าวกันว่ามีเค้าโครงเรื่องบางส่วนคล้ายกับจุลธนุคคหชาดก ซึ่งเป็นเรื่องที่ ๓๗๔ ในนิบาตชาดก นิยมนำไปแสดงในรูปละครหรือลิเกในรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ จึงทำให้วรรณคดีเรื่องนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย 

มีเรื่องย่อว่า

ท้าวพรหมทัต มีโอรสทรงพระนามว่าพระจันทโครบ เมื่อพระองค์ทรงพระชราภาพ มีพระราชประสงค์จะให้โอรสสืบราชสมบัติแทน จึงมีรับสั่งให้พระจันทโครบไปศึกษาศิลปศาสตร์กับพระฤาษีซึ่งนำเพ็ญพรตอยู่ในป่า เพื่อให้รอบรู้ในสรรพวิชาอันเหมาะสมจะเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน

พระจันทโครบเดินทางเข้าป่า และได้พบพระฤๅษีซึ่งเมตตาสอนศิลปวิทยา และเวทมนตร์คาถาให้ เมื่อเรียนจบและฝึกฝนจนเชี่ยวชาญแล้วจึงลากลับเมือง  พระฤๅษีห้ศรและพระขรรค์เป็นอาวุธป้องกันตัว พร้อมทั้งผอบซึ่งมีนางงามชื่อโมราอยู่ภายใน ด้วยหวังให้เป็นคู่ครอง และสั่งไม่ให้เปิดระหว่างทาง แต่พระจันทโครบมีความสงสัยจึงเปิดผอบออกดูก่อน ครั้นได้นางโมราแล้วก็พากันเดินทางกลับเมืองตามเส้นทางที่ยากลำบาก พระจันทโครบต้องอุ้มนางและยอมสละเลือดให้นางดื่มแทนนํ้า จนกระทั่งมาพบพวกโจรห้าร้อย นายโจรเห็นนางโมราก็มีความพึงพอใจ จึงสั่งให้พวกโจรเข้าต่อสู้ช่วงชิงนาง แต่ถูกพระจันทโครบใช้ศรสังหารจนหมดสิ้น ขณะพระจันทโครบต่อสู้กับนายโจร ได้บอกให้นางโมราส่งพระขรรค์ที่นางถือไว้มาให้ แต่นางโมราสองใจ หันด้ามพระขรรค์ไปทางมือโจร ครั้นนายโจรได้ทีจึงกระชากด้ามพระขรรค์ฟันพระจันทโครบ ก่อนพระจันทโครบจะสิ้นชีพ ได้ประกาศให้ดูตัวอย่างหญิงพาลสองใจ เช่นนางโมรา เมื่อนายโจรได้ยินก็สิ้นรักในตัวนาง ครั้นได้นางแล้วก็ทิ้งไว้กลางป่าแต่เพียงผู้เดียว

นางโมราเดินทางระหกระเหินมาถึงริมฝั่งมหาสมุทร พระอินทร์เล็งทิพยเนตรทราบเหตุการณ์ทั้งหมด จึงแปลงเป็นพญาเหยี่ยวคาบเนื้อย่างมากินอยู่ที่ฝั่งพระสมุทรนั้น เมื่อนางโมราแลเห็นจึงขอแบ่งเนื้อย่างเพื่อประทังความหิว พญาเหยี่ยวจึงแกล้งลองใจนางด้วยการพูดเกี้ยวพาราสี นางโมราได้ฟังก็พูดในเชิงตอบสนองพญาเหยี่ยวเพื่อตอบแทนพระคุณที่จะแบ่งเนื้อย่างให้ พระอินทร์แจ้งประจักษ์ถึงจิตใจนางโมรา จึงกล่าวประจานและลงโทษด้วยการสาปให้เป็นชะนี จากนั้น จึงชุบชีวิตพระจันทโครบ แล้วกล่าวสั่งสอนให้เห็นโทษของการคบหญิงกาลกิณี พร้อมทั้งบอกทิศให้พระจันทโครบเดินทางไปหาเนื้อคู่ชื่อนางมุจลินท์ ซึ่งเป็นธิดาพญานาค กับนางกินรี พระจันทโครบเดินทางไปพบถํ้าที่อยู่ของนางมุจลินท์ ได้ต่อสู้ชนะทหารของพญานาค และทำลายผ้าพยนต์ยักษ์ซึ่งเฝ้าอยู่ปากถ้ำได้สำเร็จ จากนั้นจึงเข้าไปหานางภายในถํ้าและได้นางเป็นชายา

เนื้อหาของเรื่องจันทโครบนื้ แสดงให้เห็นโทษของการคบหญิงกาลกิณี พร้อมทั้งคำสอนที่มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิต แทรกด้วยนิทานปรัมปราหรือตำนานที่เล่าขานเกี่ยวกับเรื่องราวของสัตว์ ซึ่งทำให้วรรณคดีเรื่องนี้มีลักษณะเด่นน่าสนใจมากขึ้น 

วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ถ้ำนาคา ภูลังกา

 

ประวัติถ้ำนาคา ภูลังกา

ถ้ำนาคา เป็นถ้ำหินขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูลังกา อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ และอยู่ใกล้กับวัดถ้ำชัยมงคล หากต้องการขึ้นไปเที่ยวต้องเดินขึ้นบันไดกว่า 1,400 ขั้น ถึงจะไปถึงที่หมาย โดยสาเหตุที่ถ้ำแห่งนี้ มีชื่อเรียกว่า ถ้ำนาคา หรือ ถ้ำพญานาค เป็นเพราะตัวหินและผนังถ้ำล้วนมีรูปทรงคล้ายพญานาคนอนขดตัว

โดยเฉพาะหิน ที่มีลักษณะคล้ายๆ กับเกล็ดงูขนาดใหญ่ ประดับอยู่เต็มบริเวณ ประกอบกับมีมอสสีเขียวปกคลุม ดูสวยงาม แต่ก็น่าพิศวงยิ่งนัก แถมบริเวณที่ไม่ไกลจากตัวถ้ำมีก้อนหินที่มีลักษณะเหมือนหัวงงูยักษ์ตกอยู่ด้วย

ด้วยเหตุนี้จึงมีเรื่องเล่าตำนานถ้ำนาคา เชื่อมโยงกับความเชื่อที่ว่า ถ้ำนาคา คือ พญานาค ที่ถูกสาปให้กลายเป็นหิน โดย “อือลือราชา” หรือ “ปู่อือลือ” เจ้านครบาดาล ไม่พอใจบริวารซึ่งเป็นพญานาคไปสมสู่กับมนุษย์ จึงบันดาลโทสะสาปให้เป็นหินดังกล่าว ขณะเดียวกันตำนานยังเล่าต่อว่า บริเวณ อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เป็นดินแดนบาดาลที่มนุษย์และพญานาคสามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้ ก่อนกลายถ้ำนาคา หรือ ถ้ำพญานาค อยู่บนอุทยานแห่งชาติภูลังกาอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ถ้ำนาคา กับความพิศวง

แน่นอนด้วยรูปลักษณ์ของถ้ำนาคา ที่มีลักษณะแปลกไม่เหมือนถ้ำอื่นๆ ตรงที่มีหินคล้ายงูยักษ์นอนขดทอดยาวอยู่ จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้อยากเข้าไปเยี่ยมชม และสัมผัสความพิศวงของธรรมชา

  • ตำนานพญานาค
  • ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ
  • ความศักดิ์สิทธิ์
  • ความงามธรรมชาติ

ถ้ำนาคา ตำนานพญานาค

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้น อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ ในตำนานเคยเป็นเมืองบาดาลมาก่อน และมีพญานาคถูกสาปไว้ ทำให้ตำนานเกี่ยวกับเรื่องนี้มีเค้าโครงจะเป็นเรื่องจริง เพราะหลักฐานชิ้นสำคัญนั่นก็คือผนังถ้ำนาคาที่มีเกล็ดคล้ายงู และยังมีรอยโค้งเว้าทำให้ดูเหมือนขนดงูที่นอนขดอยู่จริงๆ อีกทั้งยังมีก้อนหินลักษณะคล้ายงูตกอยู่ไม่ไกลจากตัวถ้ำนั่นเอง

ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ

ตามหลักธรณีวิทยา ก็ทำให้ทราบว่าการปรากฏตัวของหินคล้ายงูยักษ์ในครั้งนี้ สามารถเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ จากบันทึกของนักธรณีวิทยา ว่าไว้ว่า ตัวถ้ำนาคา หรือส่วนที่เป็นลำตัวพญานาค เกิดจากการยกตัวของแผ่นดิน (Tectonic uplift) ในภาคอีสาน

ทำให้เกิด “รอยเว้าผนังถ้ำ (cave notch)” ที่มีลักษณะโค้งนูนออกมา และคั่นสลับด้วยผนังหินที่โค้งเว้าเข้าไป จากนั้นเกิดการกัดเซาะที่เป็นวัฏจักร (Cyclic Erosion) ในยุคน้ำแข็งสลับกับยุคโลกร้อนที่เกิดเป็นวงรอบประมาณทุกๆ 1 แสนปี

ส่วนหินที่ดูคล้ายเกล็ดพญานาค เกิดจากการขยายตัวและหดตัวของผิวหน้าของหิน ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่า “ซันแครก” (Sun Cracks) โดยจะเกิดขึ้นเป็นวัฏจักรสลับปรับเปลี่ยนระหว่างความร้อนจากแสงแดดในช่วงกลางวันกับความเย็นในช่วงกลางคืน

กระบวนการนี้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลาที่ยาวนานนับแสนปีหรือนานกว่านั้น จนพื้นผิวของหินแตกเป็นลายคล้ายเกล็ดพญานาคหรืองูยักษ์ดังที่เห็น ส่วนบริเวณที่คิดว่าเป็นหัวงูนั้น เป็นหินก้อนใหญ่หินที่แตกหล่นมาจากหน้าผา โดยบริเวณส่วนหัวมีลวดลายเป็นรอยแตกของผิวหน้าของหินแบบซันแครก ที่ดูคล้ายผิวหนังของงูยักษ์เช่นกัน

ความศักดิ์สิทธิ์

ตามความเชื่อว่าถ้ำแห่งนี้เกิดขึ้นเหมือนกับตำนานถ้ำนาคาจริงๆ บวกกับในอดีตเคยมีพระสงฆ์อย่าง ครูบาวัง ฐิติสาโร พระป่านักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ศิษย์หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ที่มีความเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมาจำพรรษาอยู่ จึงทำให้สถานที่นี้อุดมไปด้วยความขลัง



เทวดาแห่งน้ำ

 

ความเชื่อเทวดาแห่งน้ำ คือ วรุณ และสาคร

        เรามักได้ยินอยู่เสมอว่า ปีนี้นาคให้น้ำเท่าไร กี่ตัว ฝนฟ้าดี หรือไม่ดี นาคให้น้ำสร้างความอุดมสมบูรณ์แก่สรรพชีวิต ทั้งปวง โดยพญานาคที่อาศัยอยู่ในสวรรค์ใต้น้ำ ตามคติฮินดู พญาอนันตนาคราช แท่นบรรทมของพระนารายณ์ ที่นับถือเป็นเทพเจ้า ทั้งนี้ พญานาค เปรียบได้กับท้องน้ำทั้งหลายในจักรวาล นาคมีอิทธิฤทธิ์บันดาลให้ฝนตกหรือไม่ตกก็ได้ ตลอดจนสามารถแปลงกายเป็นเมฆฝนได้ พญานาค...เป็นที่มาของแม่น้ำต่าง ๆ อันหมายถึงผู้รักษาพลังแห่งชีวิตทั้งหลาย

        ตามความเชื่อของชาวพุทธ เทวดาแห่งน้ำ คือ วรุณและสาคร ที่ต่างก็เป็นจอมแห่งนาคราช นอกจากที่เกี่ยวข้องกับน้ำบนโลกแล้ว นาคยังเกี่ยวข้องกับน้ำในสวรรค์อีกด้วย คนโบราณเชื่อว่า สายรุ้ง กับ นาค เป็นอันเดียวกัน ที่เชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับโลกสวรรค์ข้างหนึ่งของรุ้งจะดูดน้ำจากพื้นโลกขึ้นไปข้างบน เมื่อถึงจุดที่สูงสุดก็จะปล่อยน้ำลงมาเป็นฝนที่มีลำตัวของนาคเป็นท่อส่ง

        ในตำนานสิงหนวัติ กล่าวว่า เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือ พญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมือง 4 ด้าน เป็น เมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมาเมื่อยกทัพปราบเมืองอื่นได้ และรวมดินแดนเข้าด้วยกัน จึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนาคราช

        ที่เห็นได้ชัดก็คือ ที่ปราสาทพนมรุ้ง จะมีคูเมืองที่เป็นสระน้ำ 4 ด้าน รอบปราสาทและมี พญานาค อยู่ด้วย ตามความเชื่อของคนสมัยโบราณ นาคจะมีความหมายเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากน้ำ เช่น การสร้างศาสนสถานไม่ว่าจะเป็นอุโบสถ นาคที่ราวบันได จึงมี พญานาค ซึ่งตามความเป็นจริง (ความเชื่อ) การสร้างต้องสร้างกลางน้ำ เพื่อให้ดูเหมือนว่าศาสนสถานนั้นลอยอยู่เหนือน้ำ แต่ก็ไม่ต้องสร้างจริงๆ เพียงแต่มีสัญลักษณ์ พญานาค ไว้ เช่น ที่ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น

        แม้ความเชื่อเกี่ยวกับชีวิตมนุษย์ ก็จะมีอยู่ในราศีเกิด เช่นของคนนักษัตรปีมะโรง ที่มีความหมายถึง ความยิ่งใหญ่และพลังอำนาจ ที่มี พญานาค เป็นสัญลักษณ์

วรรณกรรม นางผมหอม ภาษาอิสาน


 วรรณกรรมอีสานเรื่องนางผมหอม

เนื้อเฮื่อง

        ว่าไปฮอดธิดาเจ้าเมือง เมืองหนึ่ง ซื่อว่านางสีดา   มื่อหนึ่ง นางสีดา  เข้าไปเลาะเล่นในดงกับเหล่าเสนาอำมาตย์  นางหิวน้ำแฮงแต่น้ำที่เกียมไว้เหมิด   ซามย่างหาน้ำอยู่ บังเอิญงวกไปพ้อน้ำขังอยู่ฮอยช้างแล้วกะฮอยกระทิง นางสีดาเลยก้มลงดูดกินน้ำนั้น ควมหิวน้ำกะหายไป

        คันนางสีดา และเหล่าเสนาอำมาตย์ เมือมาฮอดเมือง  ผ่านมาจั๊กหน่อยนางสีดากะท้อง  บ่ฮู้ว่าไผเป็นพ่อเด็กในท้อง  พระราซาและมเหสีกะถามหาควมจริง นางกะเว้าสู่ฟังนำแนวที่นางได้พ้อ แล้วคึดว่าลูกน้อยคงสิเป็นลูกของพญาช้าง พญากระทิงหลือบ่ พระบิดาและพระมารดากะบ่ได้ถามหยังอีก ขอให้ได้หลานกะพอพระทัยแล้ว  จนว่าฮอด ๙ เดือน นางสีดากะประสูติธิดาแฝด   คนเอื้อยให้ซื่อว่า นางผมหอม ย้อนว่าผมของนางมีกลิ่นหอมแต่เกิด   คนน้องหล่าให้ซื่อว่า นางลุน ย้อนว่าเป็นน้อง เกิดเทื่อลุน

        นางผมหอม เป็นคนนิสัยดี โอบอ้อมอารี มักซ่อยเหลือผู้อื่น บ่คือนางลุน ย่านผู้อื่นได้หลื่นแฮง อิดสาบังเบียด  ใจฮ้าย  มักขู่เข็นผู้อื่น เทิงมักขู่เข็น(ขู่เข็ญ)แล้วกะเฮ็ดตินางผมหอมอยู่บ่เซา   นางผมหอมกับนางลุน ค่อยใหญ่ขึ้นนำอายุขัย คันยังเป็นเด็กน้อน ไปเล่นนำหมู่ กะสิถืกป้อยว่า เป็นลูกบ่มีพ่อ คันใหญ่เป็นสาว กะยังถืกป้อยอยู่ จนทนบ่ไหว ทั้งสองเลยตัดสินใจไปถามควมจริงกับพระมารดา  นางสีดากะเว้าความจริงสู่ฟัง ว่าได้ไปกินน้ำในฮอยซ้าง ฮอยกระทิงในกลางป่า  เมือมากะท้อง  พ่อซุมเจ้ากะคือ พญาช้าง กับพญากระทิง แต่กะบ่ฮู้ว่าไผเป็นลูกซ้าง ไผเป็นลูกกระทิง

        นางผมหอมกับนางลุน กะขอมารดาออกนำหาบิดาในดง เทิงสองนาง สาละวอน ส่อดุ๊ ๆ เข้า มารดากะเลยให้ไป เทิงสองกะออกท่องเข้าดงนำทางที่มารดาว่าไว้   ท่องมาหลายมื่อ  ในที่สุดทั้งสอง กะพ้อกับพญาซ้างใหญ่โตหนึ่ง  พญาซ้างเห็นทั้งสองเลยคึดว่าเป็นซุมคนมาฮานเลยว่าสิฆ่าถิ่ม  นางผมหอมผู้เป็นเอื้อยกะฮ้องไฮ่ ฮ้องขอซีวิต   พญาซ้างเกิดควมอยากฮู้ว่า จั่งใด๋สองสาวอันนี้ จั่งเข้ามาในดงผิดแนวแม่ญิงคัก  นางผมหอมกะเว้าสู่ฟังว่า นางเป็นลูกแม่สีดา กับพญาซ้าง และพญากระทิง  แล้วนางลุนกะเว้าตัดส่อหล่อขึ้นว่า  เจ้าของเป็นลูกของพญาซ้าง นางผมหอมเป็นลูกของพญากระทิง คันสิฆ่าถิ่ม กะฆ่านางผมหอมเถาะ  นางผมหอมเว้าคืนว่า ตอนนี้ยังบ่ฮู้ว่าไผเป็นลูกซ้าง ไผเป็นลูกกระทิง เฮาสองอยากพ้อพ่อ เลยอุตสาหะเข้ามาท่องในดง ก่อนสิฆ่านาง กะขอให้นางได้พิสูจน์เจ้าของก่อน  คันนางบ่แม่นลูกซ้างอีหลี สิฆ่ากะยอม   พญาซ้างกะว่าขึ้นว่า ยอมให้พิสูจน์กะได้ คันไผปีนงวงขึ้นขี่คอได้ คนนั้นนั่นหละคือลูกเฮา ว่าแล้วพญาช้างกะตั้งจิตอธิษฐานนำคำว่าแล้วยืนสื่อ ๆ   นางลุน หมั่นใจว่าเจ้าของเป็นลูกพญาซ้าง  ฟ่าวขึ้นงวง หมายสิขึ้นหลังซ้างให้ได้ แต่ย้อนว่านางเป็นลูกกระทิง  เฮ็ดจั่งใด๋ กะปีนขึ้นบ่ได้  มีแต่หมื่นตกลงมาคือเก่า   พญาซ้างเลยบอกให้เซาก่อน   ฟากนางผมหอม พัดว่าปีนขึ้น กะปีนขึ้นได้บ่ลำบาก แล้วนั่งอยู่เทิงคอช้างได้สำเร็จ  ทางนางลุนเห็นว่านางผมหอมปีนขึ้นได้ง่าย กะอยากลองเบิ่งอีกเทื่อ พญาซ้างห้ามกะบ่ฟัง  นางลุนกะยังปีนขึ้นบ่ได้ 

        ในที่สุดพญาซ้างกะเลยใซ้ตีนกะทืบนางลุนตาย  และเอานางผมหอมผู้เป็นลูกไปอยู่นำ  ให้บริวารเอาหินมาสร้างผาสาทหินให้เป็นเฮือนอยู่นางผมหอม เอิ้นว่าผาสาทนางผมหอม   นางผมหอมคันดีใจที่ได้พ้อพ่อเจ้าของ แต่กะเหลือโตนนางลุนผู้น้องสาว กะไฮ่ฮ่ำฮอนมาตลอดทาง แต่กะบ่กล้าว่าหยังพญาซ้างผู้บิดา ซ้างกะปัวนิบัตินางผมหอมเป็นอย่างดี ค่อมว่าฮักในธิดา ซ้างกะได้เลี้ยงนางผมหอมอย่างดี   จนนางใหญ่เป็นสาว อายุได้ ๑๖ ปี  นางเป็นมนุษย์อยู่ผู้เดียวกะฮู้เสิกเดียวดายหลาย  ทั้งเจ้าของกะใหญ่แล้ว อยากมีสวามี เลยเขียนสารใส่อูก (หรือผอบ) พร้อมกับผมหอม ลองทวยหาคู่เบิ่ง 

        ว่าไปฮอดขุนไทย  กษัตริย์ฮูปงามกำลังสรงน้ำอยู่ กับเหล่าเสนาอำมาตย์ กะงวกไปเห็นอูกลอยน้ำมา บัดพอเปิดออกกะเจอสารแล้วกะเกิดหลงใหลในกลิ่นผมหอมห่วยๆ ออกมาแต่อูก ถืกใจพึงใจหลาย เลยออกนำหาจนพ้อ แล้วกะหลอยได้กัน จนได้บุตรธิดา ๒ คน กะพากันหนีพ่อพญาซ้างไปอยู่เมืองมนุษย์  ซ้างนำหาพ้อแล้วกะล่ำลาสั่งควมนางผมหอม แล้วกะขาดใจตายค่อมว่าฮักลูก นางผมหอม ขุนไท และบุตรธิดา กะเมือเมือง ใซ้เฮือที่เนรมิตจากงาซ้าง ละหว่างทาง นางพรายน้ำกะแปลงกายเป็นดอกบัว ลูกอยากได้กะให้นางผมหอมปลิดให้ เลยถืกนางผีพรายยู้ให้ตกน้ำแล้วจ่มมนต์สะกดขุนไทย แปลงกายเป็นนางผมหอม แล้วเสกนางผมหอมให้เป็นซะนี นางซะนีผมหอมกะว่ายน้ำขึ้นฝั่งแล้วไปอยู่ในป่า ลูกนางผมหอมฮู้ว่าเป็นโตปลอมของเทียม เลยได้ออกท่องดงนำหาแม่จนพ้อแล้วได้ฮู้ว่า ต้องฆ่านางพรายแล้วเอาเลือดมาฮดหัวนางซะนีจั่งสิพ้นมนต์สะกด ลูกๆ กะเลยโฮมกันกับทหารคนสนิท วางแปนฆ่านางพราย พัดว่าตายแล้วกะกลายร่างเป็นนางพรายคือเก่า นางผมหอม และขุนไท กะได้ครองฮักกันอย่างมีความสุข

ตัวละคร     นางผมหอม เป็นคนนิสัยดี โอบอ้อมอารี ชอบช่วยเหลือผู้อื่นอยู่เสมอ

                   นางลุนซึ่งเป็นคนขี้อิจฉา ใจร้าย ชอบรังแกคนอื่น

 

ต้นฉบับ     นิทานนางผมหอม : คำกลอนโบราณภาคอีสาน เรียบเรียงโดย เตชวโร ภิกขุ (อินตา  กวีวงศ์) น.ธ. เอก พิมพ์และจำหน่ายที่โรงพิมพ์คลังนานาธรรม จ.ขอนแก่น

                      วรรณกรรมอีสานเรื่องนางผมหอม เรียบเรียงโดย  ชมรมวรรณกรรมอีสาน  พิมพ์เป็นที่ระลึกในโอกาสที่นางสมบูรณ์ ดีวาจิน ได้รับพระราชทานปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ เมื่อวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๒๕

 

วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

พญานาค สัตว์ในตำนาน

 หากพูดถึงเรื่องราวของ พญานาค สัตว์ในตำนาน เชื่อว่าหลายคนคุ้นชื่อจากเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ในคืนวัน 15 ค่ำเดือน 11 อีกทั้งมักมีข่าวรอยประหลาดที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นรอยพญานาคปรากฏอยู่บ่อยครั้ง รวมไปถึงมีการนำมาสร้างเป็นละครเพื่อความบันเทิง เรียกได้ว่าเป็นความเชื่อที่สั่งสมมาช้านาน จากเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นทำให้หลายคนอยากรู้ถึงความจริงที่มีการถกเถียงกันมานานว่า พญานาคมีจริงหรือไม่ และเรื่องเล่า ตำนานที่มีมาแต่โบราณเป็นอย่างไร ซึ่งวันนี้เราได้รวบรวมข้อมูลที่ครอบคลุมทุกเรื่องราวของพญานาคมาฝากกัน


พญานาค
ภาพจาก dreamloveyou / Shutterstock.com

        ตำนานพญานาค

        นาค หรือ พญานาค มีลักษณะคือ เป็นงูใหญ่มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และนาคยังเป็นสัญลักษณ์ของบันไดสายรุ้งสู่จักรวาล นาคเป็นเทพเจ้าแห่งท้องน้ำ บางแห่งก็ว่าเป็นเทพเจ้าแห่งฟ้า ตำนานความเชื่อเรื่องพญานาคมีความเก่าแก่มาก ดูท่าว่าจะเก่ากว่าพุทธศาสนาอีกด้วย

        ทั้งนี้ จากการสืบค้นได้ว่าตำนานพญานาคมีต้นกำเนิดมาจากอินเดียใต้ ด้วยเหตุจากภูมิประเทศทางอินเดียใต้เป็นป่าเขาจึงทำให้มีงูอยู่ชุกชุม และด้วยเหตุที่งูนั้นลักษณะทางกายภาพ คือ มีพิษร้ายแรง งูจึงเป็นสัตว์ที่มนุษย์ให้การนับถือว่ามีอำนาจ ชาวอินเดียใต้จึงนับถืองูเป็นสัตว์เทวะชนิดหนึ่งในเทพนิยายและตำนานพื้นบ้าน บ้างก็ว่าเป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ มีความเชื่อเรื่องพญานาคแพร่หลายในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วทวีปเอเชีย โดยเรียกชื่อต่าง ๆ กัน

        ดังนั้นแล้ว ต้นกำเนิดความเชื่อเรื่องพญานาคน่าจะอยู่ที่อินเดีย ด้วยมีนิยายหลายเรื่องเล่าถึงพญานาค โดยเฉพาะในมหากาพย์มหาภารตะ ซึ่งถือเป็นปรปักษ์ของพญาครุฑ ส่วนในตำนานพุทธประวัติ ก็เล่าถึงพญานาคไว้หลายครั้งด้วยกัน

        อย่างไรก็ดี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีตำนานเรื่องพญานาคอย่างแพร่หลาย ชาวบ้านในภูมิภาคนี้มักเชื่อกันว่า พญานาค อาศัยอยู่ในแม่น้ำโขง หรือเมืองบาดาล และเชื่อกันว่าเคยมีคนเคยพบรอยพญานาคขึ้นมาในวันออกพรรษาโดยจะมีลักษณะคล้ายรอยของงูขนาดใหญ่ และเมื่อไปเล่นน้ำในแม่น้ำโขงควรยกมือไหว้เพื่อเป็นการสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์

        ลักษณะของพญานาคตามความเชื่อในแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกันไป แต่พื้นฐาน คือ พญานาค ลักษณะตัวเป็นงูตัวใหญ่มีหงอนสีทองและตาสีแดง เกล็ดเหมือนปลามีหลายสีแตกต่างกันไปตามบารมี บ้างก็มีสีเขียว บ้างก็มีสีดำ หรือบ้างก็มี 7 สี และที่สำคัญคือ นาคตระกูลธรรมดาจะมีเศียรเดียว แต่ตระกูลที่สูงขึ้นไปนั้นจะมีสามเศียร ห้าเศียร เจ็ดเศียรและเก้าเศียร นาคจำพวกนี้จะสืบเชื้อสายมาจาก พญาเศษนาคราช (อนันตนาคราช) ผู้เป็นบัลลังก์ของพระวิษณุนารายณ์ปรมนาท ณ เกษียณสมุทร อนันตนาคราชนั้นเล่ากันว่ามีกายใหญ่โตมหึมามีความยาวไม่สิ้นสุด มีพันศีรษะ พญานาคนั้นมีทั้งเกิดในนำและบนบก เกิดจากครรภ์และจากไข่ มีอิทธิฤทธิ์สามารถบันดาลให้เกิดคุณและโทษได้ นาคนั้นมักจะแปลงร่างเป็นมนุษย์รูปร่างสวยงาม

        ตระกูลของนาค

        นาคเป็นเจ้าแห่งงู แต่ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ แต่ก็จัดอยู่ฝ่ายสุคติภูมิ อยู่สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา นาคแบ่ง ออกเป็น 4 ตระกูลใหญ่ คือ

        - ตระกูลวิรูปักษ์ พญานาคตระกูลสีทอง

        - ตระกูลเอราปถ พญานาคตระกูลสีเขียว

        - ตระกูลฉัพพยาปุตตะ พญานาคตระกูลสีรุ้ง

        - ตระกูลกัณหาโคตมะ พญานาคตระกูลสีดำ


        พญานาคเกิดได้ทั้ง 4 แบบ คือ

         1. แบบโอปปาติกะ เกิดแล้วโตทันที

         2. แบบสังเสทชะ เกิดจากเหงื่อไคล สิ่งหมักหมม

         3. แบบชลาพุชะ เกิดจากครรภ์

         4. แบบอัณฑชะ เกิดจากฟองไข่

        พญานาคชั้นสูงเกิดแบบโอปปาติกะ เป็นชนชั้นปกครอง ที่อยู่ของพญานาคมีตั้งแต่ในแม่น้ำ หนอง คลอง บึงต่างๆ ในอากาศ จนไปถึงสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา พวกพญานาคอยู่ในการปกครองของท้าววิรูปักษ์ ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกาด้านทิศตะวันตก เหตุที่มาเกิดเป็นพญานาคเพราะทำบุญเจือด้วยราคะ

พญานาค

        ความเชื่อเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณสมบัติ

        พญานาค หรือ งูใหญ่มีหงอน ในตำนานของฝรั่ง หรือชาวตะวันตก ถือว่าเป็นตัวแทนของกิเลส ความชั่วร้าย ซึ่งตรงข้ามกับชาวตะวันออก ที่ถือว่า งูใหญ่ พญานาค มังกร เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พลังอำนาจ โดยชาวฮินดูถือว่า พญานาคเป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพองค์ต่าง ๆ เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ เช่น อนันตนาคราช ที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ตรงกับความเชื่อของลัทธิพราหมณ์ ที่เชื่อว่า นาค เป็นเทพแห่งน้ำ เช่นปีนี้ นาค ให้น้ำ 1 ตัว แปลว่า น้ำจะมาก จะท่วมที่ทำการเกษตร ไร่นา ถ้าปีไหน นาคให้น้ำ 7 ตัว น้ำจะน้อย ตัวเลขนาคให้น้ำจะกลับกันกับเหตุการณ์ เนื่องจาก ถ้านาคให้น้ำ 7 ตัว น้ำจะน้อยเพราะนาคกลืนน้ำไว้


        สำหรับความเชื่อเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณสมบัติแบ่งออกเป็นข้อดังต่อไปนี้

         1. พญานาค งูใหญ่ มีหงอน สัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา และ บันไดสายรุ้งสู่จักรวาล เป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ จากการจำศีล บำเพ็ญภาวนา ศรัทธาในพุทธศาสนา ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เราจะพบเห็น เป็นรูปปั้นหน้าโบสถ์ ตามวัดต่าง ๆ บันไดขึ้นสู่วัดในพุทธศาสนา ภาพเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง กับศาสนาพุทธอีกมากมาย

         2. พญานาค เป็นสัตว์มหัศจรรย์ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ คือ สามารถแปลงกายได้ พญานาค มีอิทธิฤทธิ์ และมีชีวิตใกล้กับคน พญานาค สามารถแปลงเป็นคนได้ เช่นคราวที่แปลงเป็นคนมาขอบวชกับพระพุทธเจ้า ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวถึงนาคที่ชื่อ ถลชะ ที่แปลว่า เกิดบนบก จะเนรมิตกายได้เฉพาะบนบก และนาคชื่อ ชลซะ แปลว่า เกิดจากน้ำ จะเนรมิตกายได้เฉพาะในน้ำเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้พญานาคจะเนรมิตกายเป็นอะไร แต่ในสภาวะ 5 อย่างนี้ จะต้องปรากฏเป็นงูใหญ่เช่นเดิม คือ ขณะเกิด ขณะลอกคราบ ขณะสมสู่กันระหว่างนาคกับนาค ขณะนอนหลับ โดยไม่มีสติ และที่สำคัญ ตอนตาย ก็กลับเป็นงูใหญ่เหมือนเดิม

         3. พญานาค มีพิษร้าย สามารถทำอันตรายผู้อื่นได้ด้วยพิษ ถึง 64 ชนิด ซึ่งตามตำนานกล่าวว่า สัตว์จำพวกงู แมงป่อง ตะขาบ คางคก มด ฯลฯ มีพิษได้ ซึ่งก็ด้วยเหตุที่ นาคคายพิษทิ้งไว้ แล้วพวกงูไปเลีย พวกที่มาถึงก่อนก็เอาไปมาก พวกมาทีหลัง เช่น แมงป่อง กับ มด ได้พิษน้อย แค่เอาหาง เอากันไปป้ายเศษพิษ จำพวกนี้จึงมีพิษน้อย และพญานาคต้องคายพิษทุก 15 วัน

         4. พญานาค อาศัยอยู่ใต้ดิน หรือบาดาล คนโบราณเชื่อว่าเมื่อบนสวรรค์มีเทพอาศัยอยู่ลึกลงไปใต้พื้นโลก ก็น่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ในหนังสือไตรภูมิพระร่วง กล่าวว่า ที่ที่นาคอยู่นั้นลึกลงไปใต้ดิน 1 โยชน์ หรือ 16 กิโลเมตร มีปราสาทราชวังที่วิจิตรพิสดารไม่แพ้สวรรค์ ที่มีอยู่ถึง 7 ชั้น เรียงซ้อน ๆ กัน ชั้นสูง ๆ ก็จะมีความสุขเหมือนสวรรค์

         5. พญานาค สามารถผสมพันธุ์กับสัตว์ชนิดอื่นได้ แปลงกายแล้วผสมพันธุ์กับมนุษย์ได้ เมื่อนาคตั้งท้องจะออกลูกเป็นไข่เหมือนงู มีทั้งพันธุ์เศียรเดียว 3, 5 และ 7 เศียร สามารถขึ้นลง ตั้งแต่ใต้บาดาลพื้นโลก จนถึงสวรรค์ ในทุกตำนานมักจะกล่าวถึงนาคที่ขั้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองสวรรค์ ที่จะแปลงกายเป็นอะไรตามที่คิด ตามสภาวะเหตุการณ์นั้น ๆ

        จะเห็นว่า พญานาค หรือ งูใหญ่ นั้นมีความเป็นมาและถิ่นที่อยู่เป็นสัดส่วนในภพหนึ่งต่างหาก จะมีเป็นบางครั้งที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ พญานาค เป็นทั้งเอกลักษณ์ของความดี และความไม่ดี


       


 
                  

ความเชื่อเรื่องพญานาคในภาคอิสาน และภาคเหนือ

  ความเชื่อเรื่องพญานาคในภาคอิสาน และภาคเหนือ


                  ภาคเหนือ

        มีตำนานเกี่ยวกับพญานาคอยู่เช่นกัน ดังในตำนานสิงหนวัติซึ่งเป็นตำนานเก่าแก่ของทางภาคเหนือเอง "เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือ พญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมืองเป็นเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมายกทัพปราบเมืองอื่นได้และรวมดินแดนเข้าด้วยกันจึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนคร ต้นวงศ์ของพญามังรายผู้ก่อกำเนิดอาณาจักรล้านนานั่นเอง"

เปิดตำนานพญานาค เรื่องเล่าขานที่สืบต่อกันมานาน 

                  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

        นาคล้วนมีส่วนร่วมในตำนานอย่างชัดเจน เช่น ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงเชื่อว่า แม่น้ำโขงเกิดจากการแถตัวของพญานาค นอกจากนี้ยังรวมถึงบั้งไฟพญานาค โดยมีตำนานว่าในวันออกพรรษาหรือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พญานาคแห่งแม่น้ำโขงต่างชื่นชมยินดี จึงเฮ็ด(จุด)บั้งไฟถวายการเสด็จกลับของพระพุทธเจ้าจนกลายเป็นประเพณีทุกปี และเนื่องจากเชื่อว่าพญานาคเป็นเจ้าบาดาล เป็นผู้ให้กำเนิดน้ำ ดังนั้นเมื่อชาวนาจะทำพิธีแรกไถนา จึงต้องดูวัน เดือน ปี และทิศที่จะบ่ายหน้าควายเพื่อไม้ให้ควายลากไถไปในทิศที่ทวนเกล็ดนาค ไม่อย่างนั้นการทำนาจะเกิดอุปสรรคต่างขึ้น

        สำหรับลูกไฟแดงอมชมพู ที่พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขง สู่ท้องฟ้าในวันออกพรรษา ที่บริเวณเขต อ.โพนพิสัย เห็นจนชินและเรียกสิ่งนี้ว่า "บั้งไฟพญานาค" เพราะลูกไฟที่ว่านี้จะเป็นลูกไฟ สีแดงอมชมพู ไม่มีเสียงไม่มีควัน ไม่มีเปลว ขึ้นตรง ไม่โค้งและตกลงมาเหมือนลูกไฟทั่วไป จะดับกลางอากาศ สังเกตได้ง่ายจากลูกไฟทั่วไป จะเกิดขึ้นในเขตตั้งแต่ บริเวณค่าย ตชด.(อ่างปลาบึก), วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่, ท่าน้ำวัดหลวง ต.วัดหลวง เรื่อยลงไปจนถึง เขตบ้านน้ำเป กิ่ง อ.รัตนวาปี แต่ก่อนจะเห็นเกิดขึ้นเฉพาะท่าน้ำวัดหลวง, วัดจุมพล, วัดไทย และท่าน้ำวัดจอมนาง อ.โพนพิสัยแต่ทุกวันนี้จะเห็นเกิดที่บ้านน้ำเป, บ้านท่าม่วง, ตาลชุม, ปากคาด และ แก่งอาฮง อ.บึงกาฬ

        ทั้งนี้ สังเกตได้ว่า ลูกไฟนี้หากขึ้นกลางโขงจะเบนเข้าหาฝั่ง หากขึ้นใกล้ฝั่งจะเบนออกกลางโขง ลูกไฟนี้จะขึ้นเฉพาะวันออกพรรษาเท่านั้น แต่ถ้าหากวันพระไทยไม่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ ของลาว ลูกไฟนี้ก็จะไม่ขึ้น แต่หากปีไหนที่วันออกพรรษา ตรงกันทั้งไทย และ ลาว ลูกไฟนี้จะขึ้นมาก นอกจากนี้มีความเชื่อกันว่าที่ เขต อ.โพนพิสัย มีเมืองบาดาลอยู่ใต้พื้นดินและเป็นทางออกสู่เมืองมนุษย์ เรียกว่า เป็นเมืองหน้าด่านจึงมีบั้งไฟพญานาค เกิดขึ้นเป็นประจำที่นี้ ส่วนเมืองหลวงนั้นอยู่ที่ แก่งอาฮง อ.บึงกาฬ ที่กล่าวเช่นนั้นเพราะที่แก่งอาฮง เมื่อหน้าแล้งจะมีสะดือแม่น้ำโขง ตลอดความยาวของแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านหลายประเทศ ตรงที่ลึกที่สุดก็อยู่ที่แก่งอาฮง

        อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ และเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขงที่แท้จริง เพราะลูกไฟประหลาดที่เรียกว่า "บั้งไฟพญานาค" นี้เกิดขึ้นเฉพาะในเขต จ.หนองคายเท่านั้น ตามแนวแม่น้ำโขง ไม่มีขึ้นที่อื่นแม้จะอยู่ตามริมแม่น้ำโขงเช่นกัน จึงนับได้ว่าหนองคายกับเวียงจันทน์ สมัยก่อนนั้นการปกครองและการสร้างเมืองโดยพญานาค จึงได้รับอิทธิพลนี้เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะถูกแยกการปกครอง และแยกประเทศออกจากกัน แต่ในความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์ก็เป็นพื้นที่เดียวกัน ตำนานประเพณีต่าง ๆ ของคนแถบลุ่มแม่น้ำโขง จะเกี่ยวข้องกับพญานาคกันทั้งนั้น เพราะพญานาค หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร และความเป็นอยู่ของมนุษย์

        ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เพื่อ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พญานาค ก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร และ สำคัญอย่างไร กับเมืองหนองคาย-เวียงจันทน์ และทำไม "บั้งไฟพญานาค" จึงได้เกิดขึ้นเฉพาะเขต จ.หนองคาย เท่านั้น และที่สำคัญจะเกิดขึ้นเฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำ ที่ตรงกันระหว่าง ไทย-ลาว หากปีไหนแปดสองหนบั้งไฟพญานาค ก็จะเลื่อนไปขึ้นในวันพระลาว (15 ค่ำ ลาว) เป็นเรื่องที่ท้าทายให้มาดูมหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง

    

พญานาคกับตำนานปรัมปราของไทย

     

พญานาคกับตำนานปรัมปราของไทย

 
                  เหตุที่พระสุกจมน้ำ ที่เวินสุก บ้านหนองกุ้ง อำเภอโพนพิสัย

        มีการเล่าขานถึงความศรัทธาของพญานาคว่า เหล่าพญานาค นั้นเป็นผู้ที่มีความเคารพ และศรัทธาในพระพุทธเจ้ามาก หลังจากที่มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นที่เมืองล้านช้าง ประเทศลาว ความทราบถึงเหล่าพญานาค ที่อยู่เมืองบาดาล จึงได้แปลงกายขึ้นไปขอพระพุทธรูปกับเจ้าเมืองล้านช้าง โดยเจาะจงขอเอาพระสุก เพื่อไปไหว้สักการะบูชา ที่เมืองบาดาล ปกติเหล่าพญานาคเป็นผู้ที่ถือศีลแปดเคร่งครัดมาก พญานาค จะไม่ทำร้ายใคร ส่วนมนุษย์ตายในน้ำที่ว่าเงือกกินนั้น เงือกก็คือ พญานาค ชั้นเลว ประพฤติตนเกเร จึงชอบทำร้ายมนุษย์ตามน้ำ เดี๋ยวนี้พระสุกก็ยังจมอยู่ในแม่น้ำโขง ที่ที่เป็นที่อยู่ของเหล่า พญานาค ในเมืองบาดาล เวินสุกอยู่ตรงข้ามกับบ้านหนองกุ้ง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ตรงนั้นเป็นบริเวณปากน้ำงึมไหลลงมาออกแม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำสองสี

                   เมืองพญานาค หรือเมืองบาดาล


        ในเมื่อมีเมืองมนุษย์ หรือโลกมนุษย์ โลกสวรรค์ หรือเมืองสวรรค์ ก็ต้องมีเมืองบาดาล (เมืองพญานาค) สองเมืองนอกจากเมืองมนุษย์แล้วหลายคนก็คงต้องอยากไปเห็นแน่ วิสัยของมนุษย์ชอบในสิ่งที่ท้าทาย ยิ่งห้ามก็ยิ่งอยากพบ อยากเห็นเมืองบาดาลอยู่ใต้เมืองมนุษย์ลงไปในใต้ดิน 16 กิโลเมตร (ตามความเชื่อ) มีคำเล่าลือเกี่ยวกับเมืองบาดาลในเขต อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย

ตำนานความเชื่อเรื่องนาคให้น้ำ

  


ตำนานความเชื่อเรื่องนาคให้น้ำ


        พญานาค เป็นสัญลักษณ์แห่งธาตุน้ำ "นาคให้น้ำ" เป็นเกณฑ์ที่ชาวบ้านรู้และเข้าใจดี ที่ใช้วัดในแต่ละปี จำนวนนาคให้น้ำมีไม่เกิน 7 ตัว ถ้าปีไหนอุดมสมบูรณ์มีน้ำมากเรียกว่า "นาคให้น้ำ 1 ตัว" แต่หากปีไหนแห้งแล้งเรียกว่าปีนั้น "มีนาคให้น้ำ 7 ตัว" จะวัดกลับกันกับจำนวนนาค ก็คือที่น้ำหายไป เกิดความแห้งแล้งนั้นก็เพราะ พญานาคเกี่ยงกันให้น้ำ แต่ละตัวจึงกลืนน้ำไว้ในท้องไม่ยอมพ่นน้ำลงมา

        ความเชื่อเรื่องพญานาคที่เกี่ยวข้องกับคนไทย

        เรามักจะเห็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับนาคได้เสมอ ในงาน จิตรกรรม ประติมากรรม และหัตถกรรม นาคเป็นส่วนประกอบที่สำคัญทางสถาปัตยกรรม โดยเฉพาะตามอาคารวัดต่าง ๆ หลังคาอาคารที่สร้างขึ้นสำหรับสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถานบันศาสนสถาน ตามคตินิยมที่ว่า นาคยิ่งใหญ่คู่ควรกับสถาบันอันสูงส่ง เช่น นาคสะดุ้ง ที่ทอดลำตัวยาวตามบันได นาคลำยอง ที่ทำเป็นป้านลมหลังคาโบสถ์ ที่ต่อเชื่อมกับนาคสะดุ้ง นาคเบือน นาคจำลอง และนาคทันต์ คันทวยรูปพญานาค

        พญานาคกับตำนานในพระพุทธศาสนา

        ตามตำนาน พญานาค มีอยู่ก่อนสมัยพระพุทธเจ้าแล้ว ดังเช่น หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมพิเศษแล้ว ได้เสด็จไปตามเมืองต่าง ๆ เพื่อแสดงธรรมเทศนา มีครั้งหนึ่งได้เสด็จออกจากร่มไม้อธุปปาลนิโครธ ไปยังร่มไม้จิกชื่อ "มุจลินท์" ทรงนั่งเสวยวิมุตติสุข อยู่ 7 วัน คราวเดียวกันนั้นมีฝนตกพรำ ๆ ประกอบไปด้วยลมหนาวตลอด 7 วัน ได้มีพญานาคชื่อ "มุจลินท์" เข้ามาวงด้วยขด 7 รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อจะป้องกันฝนตกและลมมิให้ถูกพระวรกาย หลังจากฝนหายแล้ว คลายขนดออก แปลงเพศเป็นมานพมายืนเฝ้าที่เบื้องพระพักตร์ ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า

        ความเชื่อดังกล่าวทำให้ชาวพุทธสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก แต่มักจะสร้างแบบพระนั่งบนตัวพญานาค ซึ่งดูเหมือนว่าเอาพญานาคเป็นบัลลังก์ เพื่อให้เกิดความสง่างาม และทำให้คิดว่า พญานาค คือผู้คุ้มครองพระศาสดา และยังมีความเชื่ออีกว่า พญานาคเป็นสะพาน (สายรุ้ง) ที่เชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์ หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ โลกศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อที่ว่า พญานาค กับ รุ้ง เป็นอันเดียวกัน ก็คือสะพานเชื่อมโลกมนุษย์กับสวรรค์นั่นเอง

พระพุทธเจ้าเสด็จเทวโลก ผ่านวิมานของเหล่าพญานาค เกิดอะไรขึ้น



                   พระพุทธเจ้าเสด็จเทวโลก

        ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าได้เสด็จพร้อมด้วยพระอรหันต์จำนวน 500 รูป เพื่อเสด็จไปยังเทวโลก ได้ผ่านวิมานของเหล่าพญานาค ที่กำลังมีการรื่นเริงกันอย่างสนุกสนาน ที่มี นันโทปนันทนาคราช เป็นประธานใหญ่ เมื่อเห็นคณะสงฆ์ผ่านไปเหนือวิมานจึงมีความโกรธมาก จึงได้ตรงไปยังเขาพระสุเมรุแปลงตนเป็นนาคขนาดใหญ่ พันโอบเขาพระสุเมรุด้วยขดถึง 7 รอบ แล้วแผ่พังพานบังชั้นดาวดึงส์เอาไว้ เพื่อไม่ให้พระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ผ่านไปได้ และเมื่อเป็นดังนั้นได้มีพระอรหันต์หลายรูปอาสาปราบ แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต จนพระโมคคัลลานะ ผู้ซึ่งตามเสด็จไปด้วยอาสา พระองค์จึงทรงอนุญาต

        ดังนั้นพระโมคคัลลานะ จึงได้แปลงกายเป็นนาคราชขนาดใหญ่กว่าถึงเท่าตัว พันเอานาคนันโทปะนันทะนาคราช เอาไว้ด้วยขดถึง 14 รอบ นาคราชทนไม่ไหวบันดาลให้ไฟลุกขึ้น พระโมคคัลลานะ ก็ให้เกิดไฟขึ้นเช่นกัน ไฟของนันโทปะนันทะนาคราชสู่ไม่ไหว จึงถามว่า "ท่านผู้เจริญ ท่านเป็นใคร" ตอบว่า "เราคือโมคคัลลานะ ศิษย์ของตถาคต" นันโทปะนันทะนาคราช จึงบอกว่า ท่านจงคืนร่างกลับเป็นพระเหมือนเดิมเถิด แต่ด้วยนิสัยของผู้รู้ว่า นันโทปะนันทะนาคราช เป็นคนไม่ยอมแพ้ใครง่ายๆ จึงได้แปลงกายให้เล็กนิดเดียว สามารถเข้ารูหู รูจมูกได้ แล้วเข้าไปตามรูต่างๆ จน นันโทปะนันทะนาคราช ทนไม่ไหว และนันโทปะนันทะนาคราช สู้ไม่ได้จึงหนีไป พระโมคคัลลานะ จึงแปลงร่างเป็นพญาครุฑไล่ติดตามไป เมื่อหนีไม่พ้นจึงแปลงร่างเป็นมาณพหนุ่ม ยอมแพ้พระโมคคัลลานะและที่สุดจึงยอมให้พระพุทธเจ้าพร้อมพระอรหันต์ผ่านไปแต่โดยดี

เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับเมืองบาดาลที่เชื่อว่าอยู่ใต้อำเภอโพนพิสัย

  ใต้เมืองโพนพิสัย


        ลักษณะของอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคายที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ด้านหัวเมืองจะมีลำห้วยหลวงไหลออกมา เรียกว่า ปากห้วยหลวง ตรงข้ามกับอำเภอโพนพิสัย คือ บ้านโดน ที่ขึ้นกับเมืองปากงึม ทุกวันนี้มีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับเมืองบาดาลที่เชื่อว่าอยู่ใต้อำเภอโพนพิสัย ว่า ในหน้าแล้งจะมีหาดทรายขึ้นกลางแม่น้ำโขง แต่บริเวณอำเภอโพนพิสัยหาดทรายนี้จะขึ้นอยู่ฝั่งลาว บริเวณบ้านโดน วันหนึ่งในหน้าแล้งตอนเที่ยงวัน ได้มีหญิงสาวชาวบ้านโดนคนหนึ่ง ได้ลงมาตักน้ำเพื่อไปดื่ม โดยมีกระป๋องน้ำ(หาบครุ)ลงมาที่หาดทราย เพราะบริเวณนั้นมีน้ำออกบ่อ(น้ำริน)เมื่อลงมาแล้วได้หายไป ชาวบ้านลงมาเห็นแต่กระป๋องน้ำ (หาบครุ) พ่อ แม่ ต่างก็ตามหากันแต่ไม่พบ จนครบ 7 วัน เมื่อไม่เห็นลูกสาว และคิดว่าลูกสาวคงจมน้ำตายแล้ว จึงได้พร้อมกับญาติพี่น้อง ชาวบ้านจัดทำบุญอุทิศให้ ในตอนกลางคืนก็มีหมอลำสมโภช

        จนเวลาต่อมาเวลาประมาณเที่ยงคืน ลูกสาวคนที่เข้าใจว่าจมน้ำตาย ก็ปรากฏตัวขึ้นที่บ้าน ขณะที่ชาวบ้านกำลังฟังหมอลำกันอยู่ ทำให้ญาติพี่น้องแตกตื่นกันเป็นอย่างมาก บางคนก็วิ่งหนีเพราะคิดว่าเจอผีหลอกเข้า สุดท้ายลูกสาวจึงได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ฟัง หลังจากที่ตั้งสติได้ และแล้วญาติพี่น้องก็เข่ามาร่วมวงนั่งฟัง หญิงสาวเล่าให้ทุกคนฟังว่า "วันนั้นอากาศร้อนมาก น้ำดื่มหมดโอ่ง เมื่อลงไปเพื่อจะตักน้ำ เมื่อวางกระป๋องน้ำ(หาบครุ) ปรากฏว่าเห็นมีหมู เหมือนกับว่าได้ยกเท้าหน้าเรียกให้เข้าไปหา ตนได้เดินเข้าไปหา แล้วหมูตัวนั้นก็บอกว่าให้หลับตา จะพาลงไปเมืองบาดาล พอหลับตาได้สักครู่ หมูตัวนั้นก็บอกให้ลืมตา

        เมื่อลืมตาขึ้นปรากฏว่าตนมาอยู่อีกเมืองหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับเมืองมนุษย์ มีดิน มีบ้านเรือนเรียงรายกันอยู่ แต่จะมีแปลกก็ตรงที่ ทุกคนจะนุ่งผ้าแดง และมีผ้าพันศีรษะเป็นสีแดงเหมือนกัน โดยด้านหน้าจะปล่อยให้ผ้าแดงห้อยลงเหมือนกับหัวงู เมื่อเดินตามชายคนนั้น (กลับร่างหมู กลายเป็นคน) ก็มีชาวบ้านถามกันว่า นำมนุษย์ลงมาทำไม (เพราะกลิ่นมนุษย์ต่างกับเมืองบาดาล) ชายคนนั้นก็บอกว่าพามาเที่ยวดูเมือง

        จากนั้นชายคนนั้นเดินไปเรื่อย ๆ เมื่อแหงนหน้ามองดูท้องฟ้ากลับปรากฏว่าเป็นสีน้ำตาลอ่อน ๆ เหมือนสีขุ่น ๆ ของน้ำ ชายคนนั้นได้บอกหญิงสาวว่า นี่เป็นเมืองบาดาล และเป็นเมืองหน้าด่าน ส่วนตัวเมืองหลวงนั้นยังอยู่อีกไกล และชาวเมืองจะมีงานสมโภชเมื่อถึงวันออกพรรษาของเมืองมนุษย์ ซึ่งถือว่าตลอด 3 เดือน ที่เข้าพรรษานั้นเหล่าชาวเมืองที่นี่ก็จะจำศีลปฏิบัติธรรมเพื่อเป็นการบูชาพระพุทธเจ้า หลังจากที่เดินชมเมืองอยู่ไม่นาน ชายคนนั้นก็ได้นำขึ้นมาส่ง โดยการเดินมาทางเดิม ก็เป็นการเดินมาเรื่อย ๆ แต่ได้ขึ้นมายืนอยู่บริเวณหาดทรายเหมือนเดิม แล้วก็ได้ขึ้นมาหาพ่อ แม่ นี้  จากการเล่าของลูกสาว พ่อ แม่ ญาติพี่น้องจึงได้จัดงานทำบุญทำพิธีสู่ขวัญ เพื่อเป็นการต้อนรับขวัญให้กับลูกสาว ต่อมาอีก 7 วัน ลูกสาวก็ได้เจ็บป่วยและเสียชีวิตในที่สุด