วันศุกร์ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ความเชื่อเรื่องพญานาคในภาคอิสาน และภาคเหนือ

  ความเชื่อเรื่องพญานาคในภาคอิสาน และภาคเหนือ


                  ภาคเหนือ

        มีตำนานเกี่ยวกับพญานาคอยู่เช่นกัน ดังในตำนานสิงหนวัติซึ่งเป็นตำนานเก่าแก่ของทางภาคเหนือเอง "เมื่อเจ้าเมืองสิงหนวัติอพยพคนมาจากทางเหนือ พญานาคแปลงกายมาช่วยชี้ที่ตั้งเมืองใหม่ และขอให้อยู่ในทศพิธราชธรรม พอตกกลางคืนก็ขึ้นมาสร้างคูเมืองเป็นเมืองนาคพันธุ์สิงหนวัติ ต่อมายกทัพปราบเมืองอื่นได้และรวมดินแดนเข้าด้วยกันจึงเปลี่ยนชื่อเป็น แคว้นโยนกนคร ต้นวงศ์ของพญามังรายผู้ก่อกำเนิดอาณาจักรล้านนานั่นเอง"

เปิดตำนานพญานาค เรื่องเล่าขานที่สืบต่อกันมานาน 

                  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

        นาคล้วนมีส่วนร่วมในตำนานอย่างชัดเจน เช่น ผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงเชื่อว่า แม่น้ำโขงเกิดจากการแถตัวของพญานาค นอกจากนี้ยังรวมถึงบั้งไฟพญานาค โดยมีตำนานว่าในวันออกพรรษาหรือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พญานาคแห่งแม่น้ำโขงต่างชื่นชมยินดี จึงเฮ็ด(จุด)บั้งไฟถวายการเสด็จกลับของพระพุทธเจ้าจนกลายเป็นประเพณีทุกปี และเนื่องจากเชื่อว่าพญานาคเป็นเจ้าบาดาล เป็นผู้ให้กำเนิดน้ำ ดังนั้นเมื่อชาวนาจะทำพิธีแรกไถนา จึงต้องดูวัน เดือน ปี และทิศที่จะบ่ายหน้าควายเพื่อไม้ให้ควายลากไถไปในทิศที่ทวนเกล็ดนาค ไม่อย่างนั้นการทำนาจะเกิดอุปสรรคต่างขึ้น

        สำหรับลูกไฟแดงอมชมพู ที่พุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขง สู่ท้องฟ้าในวันออกพรรษา ที่บริเวณเขต อ.โพนพิสัย เห็นจนชินและเรียกสิ่งนี้ว่า "บั้งไฟพญานาค" เพราะลูกไฟที่ว่านี้จะเป็นลูกไฟ สีแดงอมชมพู ไม่มีเสียงไม่มีควัน ไม่มีเปลว ขึ้นตรง ไม่โค้งและตกลงมาเหมือนลูกไฟทั่วไป จะดับกลางอากาศ สังเกตได้ง่ายจากลูกไฟทั่วไป จะเกิดขึ้นในเขตตั้งแต่ บริเวณค่าย ตชด.(อ่างปลาบึก), วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่, ท่าน้ำวัดหลวง ต.วัดหลวง เรื่อยลงไปจนถึง เขตบ้านน้ำเป กิ่ง อ.รัตนวาปี แต่ก่อนจะเห็นเกิดขึ้นเฉพาะท่าน้ำวัดหลวง, วัดจุมพล, วัดไทย และท่าน้ำวัดจอมนาง อ.โพนพิสัยแต่ทุกวันนี้จะเห็นเกิดที่บ้านน้ำเป, บ้านท่าม่วง, ตาลชุม, ปากคาด และ แก่งอาฮง อ.บึงกาฬ

        ทั้งนี้ สังเกตได้ว่า ลูกไฟนี้หากขึ้นกลางโขงจะเบนเข้าหาฝั่ง หากขึ้นใกล้ฝั่งจะเบนออกกลางโขง ลูกไฟนี้จะขึ้นเฉพาะวันออกพรรษาเท่านั้น แต่ถ้าหากวันพระไทยไม่ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ ของลาว ลูกไฟนี้ก็จะไม่ขึ้น แต่หากปีไหนที่วันออกพรรษา ตรงกันทั้งไทย และ ลาว ลูกไฟนี้จะขึ้นมาก นอกจากนี้มีความเชื่อกันว่าที่ เขต อ.โพนพิสัย มีเมืองบาดาลอยู่ใต้พื้นดินและเป็นทางออกสู่เมืองมนุษย์ เรียกว่า เป็นเมืองหน้าด่านจึงมีบั้งไฟพญานาค เกิดขึ้นเป็นประจำที่นี้ ส่วนเมืองหลวงนั้นอยู่ที่ แก่งอาฮง อ.บึงกาฬ ที่กล่าวเช่นนั้นเพราะที่แก่งอาฮง เมื่อหน้าแล้งจะมีสะดือแม่น้ำโขง ตลอดความยาวของแม่น้ำโขง ที่ไหลผ่านหลายประเทศ ตรงที่ลึกที่สุดก็อยู่ที่แก่งอาฮง

        อย่างไรก็ดี นับว่าเป็นเรื่องเหลือเชื่อ และเป็นสิ่งมหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขงที่แท้จริง เพราะลูกไฟประหลาดที่เรียกว่า "บั้งไฟพญานาค" นี้เกิดขึ้นเฉพาะในเขต จ.หนองคายเท่านั้น ตามแนวแม่น้ำโขง ไม่มีขึ้นที่อื่นแม้จะอยู่ตามริมแม่น้ำโขงเช่นกัน จึงนับได้ว่าหนองคายกับเวียงจันทน์ สมัยก่อนนั้นการปกครองและการสร้างเมืองโดยพญานาค จึงได้รับอิทธิพลนี้เช่นกัน ถึงแม้ว่าจะถูกแยกการปกครอง และแยกประเทศออกจากกัน แต่ในความเป็นจริงทางภูมิศาสตร์ก็เป็นพื้นที่เดียวกัน ตำนานประเพณีต่าง ๆ ของคนแถบลุ่มแม่น้ำโขง จะเกี่ยวข้องกับพญานาคกันทั้งนั้น เพราะพญานาค หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ทางการเกษตร และความเป็นอยู่ของมนุษย์

        ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เพื่อ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ พญานาค ก่อนว่ามีความเป็นมาอย่างไร และ สำคัญอย่างไร กับเมืองหนองคาย-เวียงจันทน์ และทำไม "บั้งไฟพญานาค" จึงได้เกิดขึ้นเฉพาะเขต จ.หนองคาย เท่านั้น และที่สำคัญจะเกิดขึ้นเฉพาะวันขึ้น 15 ค่ำ ที่ตรงกันระหว่าง ไทย-ลาว หากปีไหนแปดสองหนบั้งไฟพญานาค ก็จะเลื่อนไปขึ้นในวันพระลาว (15 ค่ำ ลาว) เป็นเรื่องที่ท้าทายให้มาดูมหัศจรรย์แห่งลุ่มแม่น้ำโขง

    

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น