วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

คนเชียงใหม่คนแรกที่ได้ไปอเมริกา


 ภาพถ่าย ผู้ว่าการรัฐแอริโซนา จอร์จฮัท

กับ ศรีโหม้ คนเชียงใหม่คนแรกที่ได้ไปอเมริกา
บน วัดพระธาตุดอยสุเทพ
รูปปั้นช้างขาว นี้ ปัจจุบัน ยังตั้งอยู่บนดอยสุเทพ

"ศรีโหม้ คนเชียงใหม่คนแรกที่ไปอเมริกา"
โดยบุญเสริม สาตราภัย พิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๓

ศรีโหม้ วิชัย เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๑๑ (ปีมะโรง) ที่สันป่าข่อย ด้านตะวันออกของแม่น้ำปิง
บริเวณนั้นเป็นหมู่บ้านของชาวคริสเตียน
ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๘๑
อายุได้ ๗๐ ปี เป็นบุตรของหนานศรีวิชัย และนางวันดี

เหตุที่ศรีโหม้ได้เดินทางไปอเมริกา
เพราะ ซารา ชี๊ค ภรรยาของหมอชี๊ค
จะต้องเดินทางไปรักษาตัวที่อเมริกา
และต้องนำลูกทั้งสองกลับไปด้วยไม่มีคนดูแล
หนานศรีวิชัยบิดาจึงส่งศรีโหม้ไปเป็นพี่เลี้ยงเด็ก
ขณะนั้นศรีโหม้มีอายุเพียง ๒๑ ปี

เวลาปีเศษ ศรีโหม้เขียนจดหมายถึงพ่อแม่รวม ๒๔ ฉบับ
ในจดหมายเขียนบรรยายถึงสภาพบ้านเมือง
ความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม ประเพณี
ความเจริญต่างๆทั้งในอเมริกา และเมืองต่างๆที่ผ่านมา
โดยเขียนเป็นภาษาตัวเมืองที่อ่านเข้าใจง่าย
เป็นภาษาพื้นเมืองแท้ๆ ในขณะนั้นภาษาไทยกรุงเทพฯ
ยังไม่แพร่หลายนักในเมืองเชียงใหม่
ดังข้อความย่อหน้าที่หกของหนังสือฝากใบที่หก
หน้า ๒๒ จากหนังสือ
"ศรีโหม้ คนเชียงใหม่คนแรกที่ไปอเมริกา
" ของบุญเสริม สาตราภัย กล่าวว่า

"อันนึ่งได้ดูเขาเถียงกำลังกันต่างๆปีไหนเขามีหนหนึ่ง
เขามีข่วงเป็นวงยาวใหญ่ บางคนล่นไปได้เกิ่งไมล์
บางคนก็ไปได้ไมล์หนึ่ง บางคนก็รอมสองตีน
แล้ววิ่งไปได้สิบศอก แล้วเขาซ้ำเอาคนสองคน
มัดแข้งติดกันแถมสี่คนเอาเป็นสอง
แล้วกวดกันล่นเถียงกันไปเวยเต็มที
แล้วซ้ำแปลงราวสูงแล้วเอาซ้าขึ้นห้อยไว้
สูงสักเจ็ดศอกแล้ววิดดีดซ้านั้นถูกทุกกำ
แล้วเขาแปลงสูงเพียงขื่อเรือนเรา
แล้ววิ่งข้ามราวสูงนั้นน่ากลัวนัก
แล้วเขาเอาลูกอำม็อกใหญ่
เท่าหน่วยหมากเกลี้ยงช้างใหญ่
เขาตุ้มขึ้นขื่อแล้วโจ้งไปกำลังเขาแรงเต็มที
เขาเล่นเถียงกำลังกันหลายอย่าง ดูเขาบ่อิดบ่อ่อน"

ในย่อหน้าดังกล่าว
ศรีโหม้ได้พูดถึงการเล่นกีฬ
ซึ่งขณะนั้นผู้คนในเชียงใหม่ยังไม่เคยเห็น
ไม่เคยรู้จัก เช่นวิ่งกระโดดข้ามรั้ว แข่งโยนโบล์ลิ่ง
และคำพูดเก่าๆเช่น
เถียงกำลัง หมายถึงการประลองกำลังหรือแข่งขัน
ลูกอำม็อกใหญ่หมายถึงลูกปืนใหญ่
และหมากเกลี้ยงช้างใหญ่ หมายถึงส้มโอ
ปัจจุบันคำพูดเหล่านี้จะได้ยินได้ฟังกันยากเต็มที

พ.ศ. ๒๔๓๓ ศรีโหม้กลับจากอเมริกา
ได้เข้าทำงานเผยแพร่ศาสนาคริสต์ และ
เป็นศิษยาภิบาลคนแรกของโบสถ์คริสตจักรที่ ๑ เชียงใหม่

พ.ศ. ๒๔๓๗ จดหมายศรีโหม้ทั้ง ๒๔ ฉบับ
คณะมิชชันนารีในขณะนั้นได้รวบรวมจัดพิมพ์ขึ้น
เป็นอักษรพื้นเมือง โดยพิมพ์ที่โรงพิมพ์อเมริกันวังสิงห์คำ เชียงใหม่ ให้ชื่อว่า
"หนังสือฝากศรีโหม้แต่เมืองนอกถึงพ่อแม่"
ใช้เป็นตำราเรียนวิชาภูมิศาสตร์
ในโรงเรียนวังสิงห์คำระยะหนึ่ง
และบุญเสริม สาตราภัย ได้จัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้ง
ในปี พ.ศ. ๒๕๒๓ ใช้ชื่อว่า
"ศรีโหม้คนเชียงใหม่คนแรกที่ไปอเมริกา"

ที่มาของภาพ : Arizona State Archives Historic Photographs

ขอบคุณภาพจากเพจ Nheurfarr Punyadee

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น