วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

นักเลงค้าควายแห่งเมืองชล

 

                                                                      ภาพประกอบ ไม่เกียวกับเนื้อเรื่อง


นักเลงค้าควายแห่งเมืองชล

ก่อนการปฏิรูปการปกครองในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อำนาจท้องถิ่นนั้นยังคงมีอยู่อย่างอิสระพอสมควร หมายความว่าแต่ละท้องถิ่นจะมีผู้นำหรือมีนักเลงที่เป็นขาใหญ่คอยคุมนักเลงตัวเล็กตัวน้อยอยู่อีกทอดหนึ่ง ซึ่งก่อนที่รัฐสยามจะริเริ่มการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาลขึ้น ท้องถิ่นทั่วประเทศต่างมีผู้นำท้องถิ่นที่มีบารมีปกครองคนในพื้นที่ของตนเองทั้งสิ้น และในกรณีของแถบลุ่มแม่น้ำบางปะกง โดยเฉพาะจังหวัดชลบุรี จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดระยอง ก็เป็นไปในลักษณะนั้นเช่นกัน

ตั้งแต่ พ.ศ.2419-2433 เศรษฐกิจแถบลุ่มแม่น้ำบางปะกง ขยายตัวเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากจำนวนการขุดคลองชลประทานเพื่อส่งเสริมการปลูกข้าว ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของพื้นที่บริเวณนี้คึกคักอย่างมาก ไม่เพียงแต่การค้าข้าว ยังรวมไปถึงสัตว์ที่จำเป็นต่อการทำนาเพาะปลูกอย่างวัว-ควาย ก็ได้ถูกนำมาซื้อ-ขายกันเป็นจำนวนมาก มีคนจากหลากหลายที่และหลากหลายเชื้อชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน ไทย มอญ แขก เข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนวัว-ควาย และนำไปสู่การตั้งตัวเป็นนักเลงควายของ "ฮ้ายจีนทองดี"

ฮ้ายจีนทองดี นั้นเป็นคนจีนอพยพ เดิมเป็นช่างทำทอง มาก่อนที่จะเข้าไปคลุกคลีกับวงการนักเลงในท้องถิ่นเมืองชล ก่อนจะค่อยๆสะสมอิทธิพลขึ้นทีละน้อย พร้อมไปกับการสร้างเครือข่ายคนรู้จัก โดยฮ้ายจีนทองดี จะเลี้ยงนักเลงระดับล่างๆ เอาไว้จำนวนมาก และให้คนเหล่านี้ไปลักขโมยวัว-ควาย ของชาวบ้านมา เมื่อขโมยมาได้แล้ว ก็ให้นำสัตว์เหล่านั้นมาไว้ที่บ้านของฮ้ายจีนทองดี เมื่อชาวบ้านที่เป็นเจ้าของวัว-ควาย นั้น ตามมาเจอ ก็จะให้เงินค่าไถ่กับฮ้ายจีนทองดี เพื่อนำสัตว์ของตนเองกลับไป



นอกจากนี้วัวควายที่ซื้อจากจีนทองดี แม้ว่ารูปพรรณสันฐานจะตรงกับวัวควายที่หายไปและเจ้าของกำลังตามหาตัวอยู่ แต่ถ้าหากมีหลักฐานว่ามีคนซื้อไปแล้วจากจีนทองดี ก็ไม่สามารถที่จะตามตัวกลับมาให้เจ้าของเดิมได้ กล่าวคือวัวควายนั้นๆจะถูกฟอกให้กลายเป็นวัวควายตีทะเบียนสุจริตไปแล้ว นอกจากนี้หากกรณีที่มีคนซื้อวัวควายจากจีนทองดี แต่ในเวลานั้นไม่มีวัวควายพอเพียงที่จะขาย ก็จะมีการให้ไม้สำคัญสำหรับผู้ซื้อ ที่สามารถนำไปเรียกเอาวัวควายจากที่อื่นที่เป็นเครื่อข่ายของจีนทองดีได้ ไม่จำกัดว่าจะต้องมานำตัวไปจากที่เดียวเท่านั้น

การกระทำเช่นนี้ได้ขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ และจำนวนของผู้ที่เข้ามาเป็นนักเลงควายภายใต้สังกัดของจีนทองดีก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน ไม่เพียงเท่านี้ยังส่งผลให้ชาวบ้านสุจริตจำนวนมากจำเป็นจะต้องไปขโมยควายของผู้อื่นมาไถ่ถอนหรือมาแลกเปลี่ยนกับวัวควายของตนคืนไป เรียกได้ว่าเวลานั้น นักเลงควายแห่งเมืองชลบุรีมีอิทธิพลในพื้นที่อย่างมาก และครอบคลุมไปยังพื้นที่ที่เป็นเครือข่ายนักเลงอื่นๆ เช่น เมืองแกลง เมืองระยอง เมืองบางละมุง เมืองพนัสนิคม เป็นต้น



ไม่เพียงแต่จีนทองดีจะมีอิทธิพลหรืออำนาจนอกกฎหมาย จีนทองดียังได้ผูกสัมพันกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและขุนนางท้องถิ่น ไม่ว่าข้าราชการคนใดจะมาเยี่ยมเยือนเมืองชลบุรี จีนทองดีก็จะเป็นผู้จัดการต้อนรับขับสู้อย่างดีเยี่ยมเสมอ ดังที่พระยาสุรศักดิ์มนตรีได้กล่าวว่า "อ้ายจีนทองดีเป็นหัวหน้าผู้ร้ายมีอำนาจแลชื่อเสียงปรากฎอยู่ในเมืองชลบุรี แลเป็นคนเที่ยวฝากตัวคุ้นเคยอยู่กับเจ้านายขุนนางที่มีบุญแลรู้จักชอบพอกับลูกขุนตระลาการในกรุงเทพฯ ทั้งผู้รักษาเมืองกรมการเมืองชลบุรีแลเมืองอื่นๆ แม้ว่ามีข้าหลวงฤาเจ้านายขุนนางออกไป อ้ายจีนทองดีก็ฝากตัวให้ใช้สอย จะต้องประสงค์สิ่งใดก็หาให้ได้ตามประสงค์ แลรับเลี้ยงดูส่งเสียจนเป็นที่สนิทสนม"

อิทธิพลที่มีอยู่อย่างกว้างขวางของจีนทองดี ในที่สุดก็ต้องปิดฉากลง เมื่อรัฐสยามเริ่มทำการจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาค มีการปราบปราบโจรผู้ร้าย บรรดาเสือ นักเลง นักเลงควาย ตามท้องที่ต่างๆ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้พระยาสุรศักดิ์มนตรี เป็นข้าหลวงใหญ่แม่กองจับผู้ร้าย โดยเฉพาะในเขตเมืองชลบุรีและตำบลอ่างศิลา ที่ถือกันว่าเป็นแหล่งที่มีโจรผู้ร้ายชุกชุมมาก ในคราวนี้ เจ้าหน้าที่จากส่วนกลางที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนในท้องถิ่นเลย ได้ทำการถอนรากถอนโคนเหล่านักเลงผู้มีอิทธิพลในแถบนี้ไปจนเกือบหมด รวมถึงจีนทองดีด้วยเช่นกัน


ที่มา สุมาลี พันธุ์ยุรา. "นักเลงควายเมืองชลบุรี" ใน เจ้าพ่อ ประวัติศาสตร์จอมขมังเวทย์ รวมบทความเพื่อเป็นเกียรติในโอกาสครบรอบ 60 ปี ฉลอง สุนทราวาณิชย์, 331-352. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม, 2558

ภาพประกอบ นักโทษที่ถูกกล่าวหาว่าลักวัวควาย
https://board.postjung.com/636594.html






0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น