วันพุธที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

ตำนานรักเมืองล่ม

 

ตำนานรักเมืองล่ม

อดีตรักเมืองล่ม ตำนาน เมืองหนองหาน ที่เล่าขานกันมาช้านาน ประชาชนคนอีสานตั้งแต่เหนือจรดใต้ ต่างรู้จักกันดีทั่วหน้า นั่นก็คือ นิทานรักเรื่อง ผาแดงนางไอ่” ตำนานรักอันสุดซึ้งของ หนึ่งหญิง สองชาย” เมื่อฝ่ายหนึ่งพลาดรักและถูกทำร้าย จนถึงแก่ความตาย กลายเป็นศึกสงครามทำให้บ้านเมืองถล่มทลายกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ คือ หนองหานหลวง” ซึ่งเป็นทะเลน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของภาคอีสาน และวรรณกรรมอีสานเรื่องนี้ ก็เป็นปฐมเหตุแห่งประเพณีอันยิ่งใหญ่ บุญบั้งไฟ” ที่ขึ้นชื่อลือชาของชาวอีสานมาแต่บรรพกาล โดยตำนานรักเรื่องนี้เล่าไว้ว่า

พญาขอมผู้ครองมหานคร เอกธิดา” หรือ เอกชะธีตา” เมืองธิดาเดียว (บริเวณหนองหานหลวงในปัจจุบัน) มีธิดาชื่อว่า ไอ่คำ” หรือ ไอ่ใจเมือง” ซึ่งเป็นหญิงที่มีรูปร่างหน้าตาสดสวย สะคราญ จะหาสาวนางใดในไตรภพมาเทียบได้ไม่ นางจึงเป็นที่ต้องตาต้องใจของชายหนุ่มทั้งในเมือง และต่างเมือง เป็นที่กล่าวขานไปทั่วทุกหัวระแหง เจ้าชายแดนไกลหลายหัวเมืองต่างหมายปอง อยากได้นางมาเป็นคู่ครองทั้งนั้น

หนึ่งในเจ้าชายเหล่านั้นคือ ท้าวผาแดง” เจ้าชายแห่งเมืองผาโพง ทราบข่าวเล่าลือถึงสิริโฉมอันงดงามของไอ่คำ ก็เกิดความยินดี หลงใหล คลั่งไคล้ ใฝ่ฝัน หมายปองในตัวนางอย่างรุนแรง จนไม่สามารถจะอดรนทนไหวในนครของตนเองได้ ท้าวผาแดงได้เดินทางรอนแรมมาที่นครเอกชะธีตา พร้อมทหารคนสนิท


ตอนแรก ท้าวผาแดง ส่งสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ไปฝากให้นางไอ่ เพื่อผูกสัมพันธ์ไมตรี โดยให้ทหารมหาดเล็กคนสนิทช่วยเป็นสื่อติดต่อ ผ่านนางสนมคนรับใช้ใกล้ชิดของน่างไอ่ และทุกครั้งที่นางไอ่รับสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ สนมคนสนิทก็จะพร่ำพรรณนาถึงความรูปหล่อ สง่างาม องอาจ ผึ่งผาย กำยำ ล่ำบึก ของท้าวผาแดง ให้นางไอ่ฟัง จนนางเกิดความสนใจ และหลงรักท้าวผาแดง ในที่สุด ทั้งๆ ที่ทั้งสองคนไม่เคยได้เห็นหน้ากันเลย ด้วยอำนาจของบุพเพสันนิวาสบวกกับกามเทพได้แผงศรรักปักอกทั้งคู่ จนไม่สามารถจะถอดถอนศรรักเล่มนี้ออกได้ ต่างฝ่าย ต่างละเมอ เพ้อฝัน ถึงกันและกัน

ในที่สุดด้วยแผนการของพ่อสื่อและแม่ชัก คือ ทหารมหาดเล็ก กับสนมคนสนิท ทำให้ทั้งคู่ได้พบกัน และได้ชื่นชมสมสวาทดังคาดหมาย สุดจะยับยั้งชั่งใจไว้ได้ แต่ทั้งคู่ก็ต้องพรากจากกันเพียงแค่ค่อนคืนเท่านั้น เพราะทั้งคู่ต่างลักลอบพบกัน ท้าวผาแดงจึงให้คำมั่นสัญญาว่า จะกลับมารับนางไอ่ไปเป็นชายาอย่างแน่นอน

ย่างเข้าเดือน เจ้าผู้ครองนครเอกชะธีตา ออกประกาศไปยังเมืองอื่นๆ ให้มีการจุดบั้งไฟแข่งขัน ณ เมืองเอกชะธีตา โดยมีนางไอ่คำเป็นรางวัล หากบั้งไฟของเจ้าเมือง หรือเจ้าชายใดขึ้นสูงไม่มีใครสู้ได้ ก็จะได้นางไอ่ไปครอบครอง โดยกำหนดเอาวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เป็นวันงานบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็นงานบุญครั้งยิ่งใหญ่ เมื่อถึงวันงาน ผู้คนต่างก็หลั่งไหลมาจากทุกทั่วสารทิศ มีบั้งไฟจาก 2 เจ้าเมือง คือ พญาฟ้าแดด กับ พญาเชียงเหียน และอีก 1 เจ้าชาย คือ ท้าวผาแดง ได้นำบั้งไฟมาเข้าแข่งขันประลองในวันนั้น


กล่าวถึงท้าวภังคี ลูกชายพญานาคผู้ครองนครบาดาล ก็เป็นนาคหนุ่มอีกตัวหนึ่งที่ได้ยิน กิตติศัพท์คำร่ำลือความงดงามของนางไอ่ ภังคีมีความใฝ่ฝันอยากยลสิริโฉมของนางไอ่ มานานเมื่อทราบข่าวมีการแข่งขันจุดบั้งไฟ ก็ออกจากนาคพิภพกับบริวารจำนวนหนึ่ง เข้าสู่เมืองเอกชะธีตา ท้าวภังคี ได้แปลงร่างเป็นกระรอกเผือก อีสาน เรียกว่า กะฮอกด่อน” มีขนสีขาว ปากเท้าแดง กระโดดโลดเต้นไปมา ติดตามขบวนแห่บั้งไฟ ในคราวครั้งนั้นเพื่อต้องการจะยลโฉมนางไอ่ ทุกคนต่างใจจดใจจ่อ ที่จะเห็นการจุดบั้งไฟและคอยลุ้นว่าบั้งไฟของใครจะชนะ และได้นางไอ่ไปครอง ซึ่งการจุดบั้งไฟในครั้งนั้น พญาขอมเจ้าเมืองได้มีเดิมพันกับท้าวผาแดงว่า "ถ้าหากบั้งไฟของท้าวผาแดงชนะบั้งไฟของพญาขอมเจ้าเมืองได้ จึงจักได้นางไอ่เป็นคู่ครอง"

ปรากฏว่าบั้งไฟของพญาขอม พระบิดาของนางไอ่มีอาการ ซุ” ไม่ขึ้นจากห้าง (นั่งร้าน) ส่วนบั้งไฟของท้าวผาแดงแตกระเบิดคาห้าง มีแต่บั้งไฟของท้าวฟ้าแดด เจ้าเมืองฟ้าแดดสูงยาง กับบั้งไฟของพญาเซียงเหียนที่ตะบึงขึ้นสู่ท้องฟ้านานถึง 3 วัน 3 คืน จึงตกลงสู่พื้นดิน

ผลการตัดสินแพ้ชนะในครั้งนั้นไม่มี เพราะท้าวพญาทั้งสองมีศักเป็นอาและลุงของนางไอ่ จึงไม่มีการยกธิดาไอ่คำให้กับผู้ใด ทั้งท้าวผาแดง และนางไอ่ต่างก็ผิดหวังในการแข่งขันในวันนี้ แต่ก็ไม่สามารถบอกความจริงได้ ต้องจำใจฝืนกลับสู่เมืองของตน เพื่อหาโอกาส หนทางอื่นอีกต่อไป

ส่วนท้าวภังคี เมื่อได้ยลโฉมพระธิดาไอ่คำแล้ว และเมื่อไม่มีผู้ใดชิงนางไอ่ไปเป็นคู่ครองได้ ก็คิดหมายปองอยากได้นางมาเป็นคู่ของตน เมื่อกลับสู่นาคพิภพแล้ว ก็ไม่เป็นอันกิน อันนอน เฝ้าเพ้อฝันถึงแต่ธิดาไอ่คำ เมื่อความรักกลุ่มรุม จนไม่สามารถจะอดทนได้ จึงได้ลักลอบออกจากเมืองบาดาล ปรากฏกายบนเมืองเอกชะธีตา โดยแปลงร่างเป็นกระรอกน้อยดังเดิม แต่ครั้งนี้ แขวนกระดิ่งน้อย ปีนป่าย เต้นไปมา อยู่บนต้นงิ้ว ข้างหน้าต่างของพระธิดาไอ่คำ วรรณกรรมอีสานพรรณนาเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ว่า

ภังคีท้าวแปลงเป็นกะฮอกด่อน แขวนขอคำเฮ็ดอ้อนต้อน ปากกัดกินดอกงิ้ว ตาสิ่งเบิ่งไอ่คำ”

เมื่อกระดิ่งทองส่งเสียงกังวานขึ้น นางไอ่คำได้ยินเกิดความสงสัย จึงออกมายืนที่หน้าต่างเห็นกระรอกเผือกตัวน้อย แขวนกระดิ่งทอง เต้นไปมา อยู่บนกิ่งงิ้ว ด้วยท่าทางน่ารัก น่าเอ็นดู ก็คิดอยากได้กระรอกเผือกนั้นเหลือประมาณ จึงสั่งให้หาคนล้อมจับแต่ก็ไม่มีใครจะจับกระรอกน้อยตัวนั้นได้ และกระรอกก็ยังเต้นไปมาอยู่บนต้นงิ้วต้นนั้นเหมือนกับการยั่วยุ ความคิดเอ็นดู กลับกลายเป็นความโกรธ นางจึงตัดสินใจให้นายพรานแม่นธนูยิงกระรอกตัวนี้ เมื่อจับเป็นไม่ได้ ก็จับตายซะเลย แต่คราวนี้กระรอกเผือกเหมือนจะรู้ว่านายพรานเอาจริง จึงกระโดดหนีจากต้นงิ้วต้นนั้น เต้นไปตามต้นไม้ต่างๆ ทั่วนคร จนกระทั่งเต้นไปจับอยู่บนต้นมะเดื่อต้นหนึ่งซึ่งกำลังมีผลสุกเต็มต้น

ผลกรรมแต่ปางก่อน และแรงอธิษฐานของนางไอ่ ในชาตินั้นตามมาทัน กระรอกเผือกเผลอตัวมัวแต่กัดกินลูกมะเดื่อสุกด้วยความหิว ก็โดนลูกศรของนายพรานทะลุกลางลำตัว ดิ้นทุรนทุรายก่อนสิ้นใจตาย ท้าวภังคีในร่างกระรอกเผือก ก็ได้แสดงอิทธิฤทธิ์ร่ายมนต์อธิษฐานว่า ขอให้ร่างกายของเราใหญ่โตเท่าช้างสาร เนื้อหนังของเราจงเพียงพอแก่การเลี้ยงดูผู้คนทั่วทั้งเมือง” สิ้นคำอธิษฐานกระรอกน้อยก็ขาดใจตาย หล่นลงจากต้นมะเดื่อในบัดดล

จากกระรอกเผือกตัวน้อย กลับกลายเป็นกระรอกตัวใหญ่มหึมา นายพรานป่าวประกาศให้ชาวบ้านมาช่วยกันลาก เมื่อลากไปได้สักพักก็หมดเรี่ยวแรงที่จะลากต่อไปได้อีก จึงพากันมาแร่เนื้อกระรอกเผือก ณ จุดนั้น (บริเวณบ้านท่าแร่) แล้วแบ่งแจกจ่ายกันจนทั่วทั้งเมือง แม้แต่พระธิดาไอ่คำก็ได้รับส่วนแบ่งในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ยกเว้นแต่พวกแม่ร้าง แม่ม่าย ไม่ได้รับส่วนแบ่งเนื้อกระรอกเผือกในคราวครั้งนี้

ในค่ำคืนที่ชาวเมืองเอกชะธีตา อิ่มหนำสำราญด้วยอาหารที่ปรุงจากเนื้อกระรอกเผือกตัวนั้น ณ เมืองนาคบาดาล พญานาคราชพอทราบข่าวว่า ภังคีนาคลูกรัก ถูกลูกศรตายอยู่บนเมืองเอกชะธีตา แม้ที่สุดเนื้อของภังคีนาค ก็ถูกพวกชาวเมืองเชือดเฉือนแบ่งปันกันกิน ก็บันดาลโทสะอย่างรุนแรง ดวงตาแดงกล่ำ ดั่งดอกชบา จึงยกพลโยธานาคขึ้นสู่เอกชะธีตานคร

เวลาดึกสงัดทุกคนหลับสนิท ก็เกิดเสียงกัมปนาทหวั่นไหว แผ่นดินได้ถล่มถลายกลายเป็นแผ่นน้ำไปทั่วทุกหนแห่ง ผู้ใดที่ได้กินเนื้อท้าวภังคีนาค คนผู้นั้นก็จมหายไปกับแผ่นน้ำ เมืองทั้งเมืองล่มสลายกลายเป็นหนองน้ำใหญ่ในบัดดล คงเหลือไว้แต่บ้านของพวกแม่ม่าย ผู้ไม่มีโอกาสได้ลองลิ้มชิมรสเนื้อกระรอกเผือก จึงกลายเป็นเกาะแก่ง หรือ ดอน ท่ามกลางน้ำหนองหาน จนทุกวันนี้

กล่าวถึงท้าวผาแดง แห่งเมืองผาโพง เกิดอาการร้อนใจกระวน กระวาย มาหลายเพลา คิดถึงแต่นางไอ่ใจเมือง เพียงอย่างเดียว ได้รีบเร่งเดินทางมุ่งหน้าสู่เอกชะธีตานคร และเมื่อได้ทราบข่าวว่าเมืองกำลังถล่มถลายอยู่นั้น ก็กระโดดขึ้นหลังม้าบักสามม้าคู่ชีพ ห้อเข้าสู่ตำหนักธิดาไอ่คำ คว้าแขนอุ้มขึ้นม้าพาควบหนีไปอย่างไม่คิดชีวิต แต่อนิจจา ไอ่คำ ได้ลิ้มชิมรสเนื้อของท้าวภังคีจนอิ่มหนำไม่มีทางเสียแล้ว แม้ว่าม้าบักสามจะโดดโลดแล่นไป ณ ที่ใด แผ่นดินก็ถล่มถลายตามไปที่นั่น อีกทั้งเหล่าบริวารของพญานาคก็เนรมิตกายเป็นท่อนไม้ท่อนซุง ขวางกั้น เส้นทาง

ขณะที่ท้าวผาแดงดึงเชือกบังคับม้าให้หาทางหนีอยู่นั้น มันเป็นช่วงเวลาเส้นยาแดงผ่าแปด หางของพญานาคก็ตวัดแหว่งกอดเกี่ยวรัดเอาร่างของไอ่คำออกจากอ้อมกอดอันอบอุ่นของท้าวผาแดง ไปได้ในบัดดล ร่างของไอ่คำค่อยๆ จมหายไปในแผ่นน้ำ ต่อหน้าต่อต้าท้าวผาแดง สุดวิสัยที่จะช่วยไอ่คำสุดที่รักไว้ได้ เมื่อสิ้นไอ่คำ ทุกสิ่งทุกอย่าง สงบเงียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ท้าวผาแดงหันหลังกลับไปมองอดีตมหานครที่ยิ่งใหญ่ มีเพียงระรอกคลื่นที่ถูกลมพัดให้น้ำกระเพื่อมเท่านั้น มหานครเอกชะธีตา ที่เคยรุ่งเรืองต้องกลับกลายมาเป็นหนองน้ำใหญ่ เหลือไว้แต่ดอนแม่ม่าย และอดีตรักอันหวานชื่นเท่านั้น

เมื่อไม่มีไอ่คำ ผาแดงก็หมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ได้แต่ตรอมตรม ระทมทุกข์ทรมานอยู่เพียงผู้เดียว และแล้วลมหายใจเฮือกสุดท้ายก็พรากชีวิตอันรันทดนั้น ท้าวผาแดงสิ้นใจตาย เพราะความอาลัยไอ่คำ สุดที่รักอย่างน่าเวทนายิ่งนัก และด้วยแรกพิษรักที่ไม่สมหวังนี้ทำให้วิญญาณของท้าวผาแดงกลายเป็นวิญญาณอาฆาตแค้นต่อพญานาค เมื่อวิญญาณของท้าวผาแดงและท้าวภังคีนาคพบกันเมื่อไหร่ การรบก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น ในการรบกันแต่ละครั้ง ใช้เวลารบกันถึง 7 วัน 7 คืน มีพื้นใต้น้ำหนองหานเป็นสนามรบ โดยไม่มีใครแพ้ ใครชนะ แต่ก็จะรบกันไปเรื่อยๆ ส่วนวิญญาณของไอ่คำ ถูกจองจำอยู่ใต้พื้นน้ำหนองหาน เพราะนางเป็นตัวการอาฆาตแค้นของวิญญาณทั้งสอง จนกว่าจะถึงพระศาสนาของพระศรีอริยเมตไตรย พระองค์จะเสด็จมาโปรดและตัดสินคดี จึงจะทำให้วิญญาณทั้งสามได้หลุดพ้น จากโซ่ตรวนแห่งความทุกข์ทรมานเพราะรักนี้คือ โศกนาฏกรรมแห่งรัก”

 

 

จากหนังสือ : ประวัติพระธาตุนารายณ์เจงเวง โดย พระมหาประมวล ฐานทตฺโต, ดร.หน้า 44-53

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น