วันอาทิตย์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

จันทโครบ วรรณคดีที่คนไทยรู้จักมาช้านาน


 นิทานคำกลอนเรื่องจันทโครบ เป็นวรรณคดีที่คนไทยรู้จักมาช้านาน

รื่องจันทโครบ นี้ กล่าวกันว่ามีเค้าโครงเรื่องบางส่วนคล้ายกับจุลธนุคคหชาดก ซึ่งเป็นเรื่องที่ ๓๗๔ ในนิบาตชาดก นิยมนำไปแสดงในรูปละครหรือลิเกในรัชกาลที่ ๕ และรัชกาลที่ ๖ จึงทำให้วรรณคดีเรื่องนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย 

มีเรื่องย่อว่า

ท้าวพรหมทัต มีโอรสทรงพระนามว่าพระจันทโครบ เมื่อพระองค์ทรงพระชราภาพ มีพระราชประสงค์จะให้โอรสสืบราชสมบัติแทน จึงมีรับสั่งให้พระจันทโครบไปศึกษาศิลปศาสตร์กับพระฤาษีซึ่งนำเพ็ญพรตอยู่ในป่า เพื่อให้รอบรู้ในสรรพวิชาอันเหมาะสมจะเป็นกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน

พระจันทโครบเดินทางเข้าป่า และได้พบพระฤๅษีซึ่งเมตตาสอนศิลปวิทยา และเวทมนตร์คาถาให้ เมื่อเรียนจบและฝึกฝนจนเชี่ยวชาญแล้วจึงลากลับเมือง  พระฤๅษีห้ศรและพระขรรค์เป็นอาวุธป้องกันตัว พร้อมทั้งผอบซึ่งมีนางงามชื่อโมราอยู่ภายใน ด้วยหวังให้เป็นคู่ครอง และสั่งไม่ให้เปิดระหว่างทาง แต่พระจันทโครบมีความสงสัยจึงเปิดผอบออกดูก่อน ครั้นได้นางโมราแล้วก็พากันเดินทางกลับเมืองตามเส้นทางที่ยากลำบาก พระจันทโครบต้องอุ้มนางและยอมสละเลือดให้นางดื่มแทนนํ้า จนกระทั่งมาพบพวกโจรห้าร้อย นายโจรเห็นนางโมราก็มีความพึงพอใจ จึงสั่งให้พวกโจรเข้าต่อสู้ช่วงชิงนาง แต่ถูกพระจันทโครบใช้ศรสังหารจนหมดสิ้น ขณะพระจันทโครบต่อสู้กับนายโจร ได้บอกให้นางโมราส่งพระขรรค์ที่นางถือไว้มาให้ แต่นางโมราสองใจ หันด้ามพระขรรค์ไปทางมือโจร ครั้นนายโจรได้ทีจึงกระชากด้ามพระขรรค์ฟันพระจันทโครบ ก่อนพระจันทโครบจะสิ้นชีพ ได้ประกาศให้ดูตัวอย่างหญิงพาลสองใจ เช่นนางโมรา เมื่อนายโจรได้ยินก็สิ้นรักในตัวนาง ครั้นได้นางแล้วก็ทิ้งไว้กลางป่าแต่เพียงผู้เดียว

นางโมราเดินทางระหกระเหินมาถึงริมฝั่งมหาสมุทร พระอินทร์เล็งทิพยเนตรทราบเหตุการณ์ทั้งหมด จึงแปลงเป็นพญาเหยี่ยวคาบเนื้อย่างมากินอยู่ที่ฝั่งพระสมุทรนั้น เมื่อนางโมราแลเห็นจึงขอแบ่งเนื้อย่างเพื่อประทังความหิว พญาเหยี่ยวจึงแกล้งลองใจนางด้วยการพูดเกี้ยวพาราสี นางโมราได้ฟังก็พูดในเชิงตอบสนองพญาเหยี่ยวเพื่อตอบแทนพระคุณที่จะแบ่งเนื้อย่างให้ พระอินทร์แจ้งประจักษ์ถึงจิตใจนางโมรา จึงกล่าวประจานและลงโทษด้วยการสาปให้เป็นชะนี จากนั้น จึงชุบชีวิตพระจันทโครบ แล้วกล่าวสั่งสอนให้เห็นโทษของการคบหญิงกาลกิณี พร้อมทั้งบอกทิศให้พระจันทโครบเดินทางไปหาเนื้อคู่ชื่อนางมุจลินท์ ซึ่งเป็นธิดาพญานาค กับนางกินรี พระจันทโครบเดินทางไปพบถํ้าที่อยู่ของนางมุจลินท์ ได้ต่อสู้ชนะทหารของพญานาค และทำลายผ้าพยนต์ยักษ์ซึ่งเฝ้าอยู่ปากถ้ำได้สำเร็จ จากนั้นจึงเข้าไปหานางภายในถํ้าและได้นางเป็นชายา

เนื้อหาของเรื่องจันทโครบนื้ แสดงให้เห็นโทษของการคบหญิงกาลกิณี พร้อมทั้งคำสอนที่มีคุณค่าต่อการดำเนินชีวิต แทรกด้วยนิทานปรัมปราหรือตำนานที่เล่าขานเกี่ยวกับเรื่องราวของสัตว์ ซึ่งทำให้วรรณคดีเรื่องนี้มีลักษณะเด่นน่าสนใจมากขึ้น 

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น