วันพฤหัสบดีที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

Story historical of the ancient images


เล่าเรื่องประวัติศาสตร์จากภาพโบราณ


การสิ้นสุดของของอาณาจักรสุโขทัย
 
ภายหลังการสิ้นสุดอำนาจของอณาจักรสุโขทัยแล้ว เมืองสุโขทัยไร้ซึ่งกำลังในการสร้างสรรค์และทำนุบำรุงบ้านเมือง  แม้บางคราประวัติศาสตร์กล่าวถึงความเคลื่อนไหวของผู้คนในดินแดนแห่งนี้ แต่ก็มิได้สลักสำคัญเฉกเช่นในอดีต กระทั่งบางคราเมื่อเกิดศึกสงครามก็ต้องกวาดต้อนผู้คนออกไปจนสิ้น อันทำให้เมืองสุโขทัยต้องกลายเป็นเมืองร้างอยู่กลางป่าดงนานนับร้อยปี วัดวาอารามต่าง ๆ อยู่กระจัดกระจายในพื้นที่ ขาดการบำรุงรักษา ทำให้ทรุดโทรม ไปตามกาลเวลา เมื่อไม่มีคนดูแล เกิดการลักลอบขุดค้นโบราณวัตถุของชาติมาขาย

การลักลอบค้าโบราณวัตถุไม่ใช่เรื่องใหม่เลยสำหรับนักโบราณคดี ตำรวจ ผู้สนใจเรื่องมรดกวัฒนธรรม ตลอดจนนักค้าของเก่า การค้าโบราณวัตถุนั้นมีมานานแล้วค่านิยมในการสะสมของเก่า ซึ่งในระยะแรกจะอยู่ในชนชั้นสูงและแวดวงข้าราชการ โดยเฉพาะมหาดไทยและกลาโหม ของเก่า เช่นพระพิมพ์ พระพุทธรูป หรือประติมากรรมในศิลปะเขมร จะเป็นของกำนัลสำหรับบรรดาเจ้านายทั้งหลาย การสะสมของเก่านั้น นอกเหนือจากการเก็บเพราะสนใจและเพื่อเป็นสิริมงคลแล้ว ยังแสดงถึงรสนิยมอันศิวิไลซ์ของผู้สะสมอีกด้วย เพราะในต่างประเทศนั้นมีแต่เฉพาะบรรดาเศรษฐีที่สามารถจะสะสมของล้ำค่าเช่นนี้ได้ ต่อมามีบรรดาเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นมากมายในยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ การสะสมโบราณวัตถุก็สามารถใช้แสดงสถานภาพของตนได้ 

ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในหมู่นักสะสมของเก่าว่าเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการค้าโบราณวัตถุผิดกฏหมาย ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการค้าทับหลังนารายณ์บรรทมสิน ซึ่งถูกโจรกรรมไปจากประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2508 แล้วเมื่อ พ.ศ. 2516 ทับหลังฯถูกส่งไปขายที่สหรัฐอเมริกา พบครั้งหลังสุดที่สถาบันศิลปะชิคาโก
นัยสำคัญของทับหลังอยู่ที่ว่ามีกระบวนการค้าโบราณวัตถุที่ผิดกฎหมาย อย่างมีตัวตนแล้วตั้งแต่ครั้งนั้น มีการกะเทาะโบราณวัตถุ ออกจากโบราณสถานแล้วเคลื่อนย้ายมาที่จังหวัดพระนครศรี อยุธยา และทำเลียนแบบอย่างเป็นเรื่องเป็นราวดังเป็นข่าวหน้าหนึ่ง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยเมื่อประมาณสามสิบกว่าปีมาแล้ว 

หนังสือเที่ยวเมืองพระร่วง จัดได้ว่าเป็นงานศึกษาโบราณคดีเล่มแรกของประเทศไทย เพราะเกิดขึ้นจาก "ความตั้งพระทัย" ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร ในครั้งเดินทางเสด็จประพาสหัวเมืองเหนือของสยาม ในเขตอุตรดิตถ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร สวรรคโลก สุโขทัยและพิษณุโลก เมื่อต้นปี พ.ศ. 2450 หลังจากเดินทางท่องเที่ยวและสำรวจอารยธรรมโบราณ มานานกว่า 2เดือน  เมื่อเสด็จนิวัตพระนคร พระองค์ได้ทรงจัดให้พิมพ์หนังสือเผยแพร่การค้นคว้าของพระองค์ อธิบายถึงความเป็นมาเกี่ยวกับโบราณสถานของเมืองที่ทรงไปเยือนลงในชื่อเรื่อง "เที่ยวเมืองพระร่วง" ในปีถัดมา


ด้วยสมเด็จพระบรม ฯ เจ้าฟ้าวชิราวุธ (ในเวลานั้น) ทรงถือพระองค์เป็นนักวิชาการแบบโลกตะวัน ด้วยทรงได้รับการศึกษาสาขาประวัติศาสตร์สมัยใหม่จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ จึงทรงมีความภาคภูมิพระทัยในการสร้างสรรค์ค์งานค้นคว้า เที่ยวเมืองพระร่วง” ของพระองค์ ซึ่งหลายครั้งพระองค์ก็ได้ใช้งานค้นคว้านี้อบรมราษฎรที่ไปเยือนเมืองโบราณว่า

 “ บางคนถึงกับเปล่งอุทานวาจาว่าเมืองเก่านั้นจะไปดูอะไรป่านนี้ จนปรักหักพังเสียหมดแล้ว เพราะคนเรามีความคิดเช่นนี้ เรื่องราวของชาติจึงได้สูญเร็วนัก ชาวเราไม่รู้สึกอายแก่ชาติอื่น ๆ เขาบ้างเลย น่าจะประสงค์ที่จะอวดว่าเราเป็นชาติที่แก่กลับอาจจะลืมความแก่ของชาติเสีย อยากแต่จะตั้งหนึ่งใหม่ เริ่มด้วยสมัยที่รู้สึกว่าเดินไปสู่ทางจำเริญอย่างแบบยุโรปแล้วเท่านั้น ข้อที่ประสงค์เช่นนี้เพราะประสงค์จะให้ชาวยุโรปนิยมว่าชาติไทยไม่เคยเป็นชาติ "ป่า" เลย พอเกิดขึ้นก็จำเริญเทียมหน้าเพื่อนทีเดียว ข้อนี้เป็นข้อที่เข้าใจผิดโดยแท้ ชาวยุโรปไม่นับถือของใหม่ทั้งชาติใหม่ นิยมในของโบราณและชาติที่โบราณมากกว่าทั้งนั้น ในหมู่เมืองในประเทศยุโรปเองแข่งกันอยู่เสมอว่าชาติไหนจะค้นคว้าเรื่องราวของชาติได้นานไปกว่ากัน

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ทรงพระราชทานเหตุผลว่า เป็นเพราะความโลภและความหลง 2 ประการ ที่ทำให้คนลืมทั้งชาติและศาสนาได้ เนื่องจากเป็นธรรมเนียมของไทยเมื่อมีการฝังทรัพย์สินไว้ในกรุพระเจดีย์ หรือใต้ฐานพระประธานในวิหารหรืออุโบสถ ก็จะมีพวกขโมยเริ่มขุดทรัพย์สินทันทีที่อาคารนั้นถูกละทิ้ง
ถึงแม้ในสมัยสุโขทัยเอง ก็มีหลักฐานจากจารึกหลักที่ 2 กล่าวถึงการขุดหาทอง ในพระเจดีย์ใหญ่ที่มีภาพชาดกพระเจ้า 500 พระชาติประดับอยู่ ซึ่งน่าจะถูกย้ายมาไว้ที่อุโมงค์วัดศรีชุมในเวลาต่อมา  
นอกจากทอง ขโมยยังมองหาเครื่องรางของขลัง ซึ่งผู้ที่ได้ครอบครองจะมีความเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจะช่วยป้องกันอันตรายและนำความโชคดีมาสู่เจ้าของ พระวิเชียรปราการได้ทูล สมเด็จพระบรม ฯ ว่า พวกขโมยเหล่านี้รู้ดีทีเดียวถึงตำแหน่งที่ตั้งของกรุในเจดีย์แต่ละแบบ ดังนั้นพวกขโมยจึงไม่ต้องเสียเวลาค้นหา พระวิเชียรปราการได้เล่าถึงวิธีการอันชาญฉลาดที่ทำให้พระเจดีย์พังลงมา ก็คือเอาหวายผูกโยงยอดพระเจดีย์ไปผูกติดกับยอดไม้ พอพังต้นไม้ล้ม พระเจดีย์ก็โค่นพังไปด้วย

ที่มาของเรื่อง "เที่ยวเมืองพระร่วง" ของล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 มาให้ได้รับรู้ ผมก็ขออนุญาตนำภาพเก่าในครั้งเสด็จประพาสคราวนั้นมาเล่าเรื่องประวัติศาสตร์จากภาพโบราณ โดยนำพระวินิจฉัยของพระองค์มาสรุปและใช้คำอธิบายใหม่บางส่วนเพื่อความเข้าใจในปัจจุบันครับ

ภาพถ่ายทั้งหมดนี้ ผมปรับปรุงจากภาพประกอบในหนังสือ ศิลปะสุโขทัยและอยุธยา ภาพลักษณ์ที่ต้องเปลี่ยนแปลง ของอาจารย์พิริยะ ไกรฤกษ์ 2545 ซึ่งบางภาพอาจจะไม่ใช่ภาพในคราวเสด็จ ก็จะนำมาใช้ประกอบเรื่องด้วย


ภาพแรกเป็นภาพ "นักเลงโบราณคดี"  ผู้กำลัง "สืบสวนของบุราณ" ในสไตล์นักสืบผู้โด่งดังในอังกฤษ เชอร์ลอคโฮมส์ ( Sherlock Holmes) ภาพนี้ถ่ายในปี 2451 หลังจากการเสด็จกลับจาก "เที่ยวเมืองพระร่วง" มีโบราณวัตถุร่วมเข้าฉาก เป็นมังกรสังคโลกวางอยู่บนโต๊ะและบัวดินเผาวางอยู่บนพื้น


 ภาพนี้ นี่แน่ะเจ้าขอมดำดิน เป็นภาพของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ในวัดมหาธาตุสุโขทัย ที่มาของแรงบันดาลในการพระราชนิพนธ์นิทานโบราณคดีเรื่อง พระร่วงกับขอมดำดิน ซึ่งรูปขอมศิลาแลงนี้ก็ถูกชาวบ้านกะเทาะจนเกือบหมด เพราะเชื่อว่ารักษาโรคได้ดี มีร่องรอยการสร้างวิหารขนาดเล็กครอบไว้ในช่วง 100 กว่าปีที่แล้ว ทางข้างซ้ายของเจดีย์ประธานวัดมหาธาตุครับ


ภาพ วัดใหม่ อยู่ด้านหน้าสุดของถนนเข้าเมืองสุโขทัยเก่าตามเส้นทางปัจจุบัน ทรงสันนิษฐานว่า “พอแลเห็นน่าต่างก็เดาว่าเป็นชิ้นใหม่ วัดนี้สร้างในสมัยหลังอยุธยาตอนกลาง มีพระปรางค์ขนาดเล็กตรงมุขตะวันตกและทำฐานเป็นแข้งสิงห์ ดูภาพแล้วเหมือนวัดเก่าแก่อยู่ในป่าไหมครับ แต่วัดร้างแค่ 30 – 40  ปี ก็มีสภาพแบบนี้ได้แล้ว

ศาลตาผาแดง ทรงวินิจฉัยว่าเป็นศาลเทพารักษ์ ซึ่งต้องเป็นที่นับถือในกรุงสุโขทัยโบราณ เพราะฝีมือการก่อสร้างปราณีต ทรงพระราชทานนามว่า "ศาลพระเสื้อเมือง" แต่กรมศิลปากรตั้งตามชื่อที่ชาวบ้านเรียกตาผ้าแดง ครับ ภายหลังมีการขุดพบเทวรูปเทพเจ้าในศิลปะแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17 ตรงกับที่พระองค์สันนิษฐานไว้  


จากนั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ได้เสด็จไปที่วัดร้างอีกแห่งหนึ่ง เรียกกันว่าวัดใหญ่หรือวัดมหาธาตุ ทรงฉายพระรูปคู่กับเจดีย์ประธาน ซึ่ง “ทำเปนยอดปรางค์ชะลูดเรียวงามดีและแปลกไนยตานักหนา ในสมัยนั้นยังไม่มีรู้จักชื่อเจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือพุ่มข้าวบิณฑ์ที่เอามาใช้เรียกกันในปัจจุบันเลยครับ พระองค์เชื่อว่า "พระศากยมุนี" พระประธานในวัดสุทัศนเทพวนาราม ที่กรุงเทพ ฯ ที่ถูกอัญเชิญไปในสมัยรัชกาลที่ 1 เดิมก็คือพระประธานของวิหารหลวงวัดมหาธาตุนี้เอง



ภาพ พระอัฐฐารศยืน สูง 18 ศอก ในวัดมหาธาตุสุโขทัย ที่ถูกกล่าวถึงในจารึกหลักที่ 1 “กลางเมืองศุโขทัยนี้มีพิหารมีพระพุทธรุปทอง มีพระอฐฐารศ มีพระพุทธรุป มีพระพุทธรูปอนนใหญ่ มีพระพุทธรูปอนนราม มีพิหารอนนใหญ่ มีพิหารอนนราม จึงทรงมีพระวินิจฉัยตามคำแปลของจารึกกำหนดให้วัดมหาธาตุมีอายุในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ซึ่งก็ "อาจจะ" ไม่ใช่ทั้งหมด 


ปูนปั้นที่วัดมหาธาตุสุโขทัย เป็นรูปของพระพุทธรูปปางลีลาในซุ้มมกรยอดเกียรติมุข หน้าบันเป็นเรื่องพุทธประวัติ ทุกสถูปทรงปราสาทประจำทิศ 4 มุม รอบพระมหาธาตุสุโขทัย ในสมัยนั้นยังมีความสมบูรณ์อยู่มากครับ แต่เมื่อเวลาผ่านมาถึงปัจจุบัน กลับถูกลักลอบทำลายทั้งจากการร่วงหล่นตามธรรมชาติและการกะเทาะออกไปสะสมเป็นศิลปะ


วัดศรีสวาย ทรงมีรับสั่งว่าน่าชมมาก เพราะเหมือนกับปรางค์สามยอดที่ลพบุรี ทรงเชื่อว่าเป็นที่ตั้งของเสาชิงช้า ด้วยทรงพบซากของเสาไม้คู่ในปรางค์ และทรงพบแผ่นศิลารูปพระอิศวรจึงทรงมีพระวินิจฉัยว่า วัดศรีสวายครั้งหนึ่งเคยเป็นโบสถ์พราหมณ์ ซึ่งในภายหลังมีการขุดค้นพบทับหลังในศิลปะแบบเขมรรูปนารายณ์บรรทมสินทธุ์ และพบรูปเคารพพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงเชื่อได้ตามพระวินิจฉัยว่า วัดศรีสวายเคยเป็นศาสนสถานในลัทธิพราหมณ์-ฮินดู ก่อนแปลงมาเป็นลัทธิวัชรยานและเถรวาทในเวลาต่อมาครับ


วัดพระบาทน้อย เป็นวัดที่พระองค์แนะนำให้ควรไปชมเป็นอย่างมาก ทรงเชื่อว่าเป็นวัดสำคัญของพ่อขุนรามคำแหง ชาวบ้านในย่านเมืองเก่าก็ยังคงขึ้นไปนมัสการพระพุทธบาท ให้เห็นในช่วงการเสด็จประพาส บนเขาพระบาทน้อยมีเจดีย์ทรง"จอมแห" มีมุข 4 ด้าน ใกล้เคียงกันมีฐานของพระเจดีย์แปดเหลี่ยมขนาดใหญ่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ทรงพระราชทานเหตุผลต่อการพังทลายของพระเจดีย์ใหญ่นี้ว่า เป็นความโลภของมนุษย์ที่มีการขโมยและค้นหาทรัพย์สินมีค่าที่บรรจุไว้ในเจดีย์ “ถ้าคนเหล่านั้นได้ใช้ความเพียรพยายามและกำลังกายที่ได้ใช้ทำลายโบราณวัตถุนั้นในทางที่ดีที่ควรแล้ว บ้านเมืองจะเจริญรุ่งเรืองหาน้อยไม่


วัดสะพานหิน ทรงฉายพระรูปคู่ด้วยกับพระอัฐฐารศยืน ซึ่งพระองค์ตั้งชื่อวัดให้ใหม่ตามศิลาจารึกที่กล่าว่า " ทางทิศตะวันตกของศุโขทัยเป็นอรญญิก ...ในกลางอรญญิกมีพิหารอนนหนึ่งมนนใหญ่สูงงามนัก มีพระอัฐฐารศอนนหนึ่งลุกยืน"  


ที่ วัดศรีชุม ในสมัยการเสด็จประพาส ยังมีโครงสร้างหลังคาไม้ และเครื่องบนหลังคาไม้ตกหล่นกองอยู่ที่พื้น เป็นหลักฐานสำคัญแสดงให้เห็นว่า สุโขทัยเพิ่งร้างไปได้ไม่นานนี้เองครับ ไม่ใช่ร้างไปตั้งแต่มีกรุงศรีอยุธยาตามที่เข้าใจกัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ ทรงปืนขึ้นไปด้านบานสุดของผนังมณฑปตามอุโมงค์ ทรงพบหลุมเสาขนาดใหญ่ ทั้ง 4 มุม จึงทรงเชื่อว่า หลังคาด้านบนของมณฑปวัดศรีชุมน่าจะเป็นหลังคาไม้ มีหน้าบัน หน้าจั่ว มุมด้วยกระเบื้อง 


 พระอัจนะก็อยู่ในสภาพพังทลาย ไม่มีเค้าหน้าเดิม ก่อนที่จะมีการบูรณะทั้งองค์พระขึ้นมาใหม่ในปี 2510 อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน       


ทรงพบฐานศิวลึงค์ทำด้วยศิลาแลงที่ วัดพระพายหลวง  จึงทรงมีพระวินิจฉัยว่าวัดพระพายหลวงควรเป็นโบสถ์พราหมณ์มาก่อนแล้วจึงค่อยเปลี่ยนมาเป็นวัดในพุทธศาสนา ทรงประทับใจกับลายปูนปั้นที่ประดับปรางค์ที่เหลืออยู่เพียงหนึ่งองค์ จึงทรงถ่ายภาพมาลงในหนังสือเพื่อ "เป็นพยานว่าลวดลายงามเพียงไร" เป็นภาพของพุทธประวัติพระพุทธเจ้าตอนตรัสรู้ครับ


วัดพระพายหลวง สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 17 ในศิลปะแบบนครวัด ก่อนจะมาแปลงเป็นสุคตาลัยประจำอโรคยศาลา ในพุทธศตวรรษที่ 18 ในลัทธิวัชรยานบายน ของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ก่อนจะถูกดัดแปลงเป็นวัดในพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทในภายหลัง           
จากเมืองเก่าสุโขทัย สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จมายังเมืองสวรรคโลกทางถนนพระร่วงที่ยังเหลืออยู่มากทั้งถนนและคลองขนานถนน แต่ปัจจุบันไม่เหลือแล้วนะครับ


วัดแรกที่ทรงประพาสคือ วัดช้างล้อม เมืองสวรรคโลก หรือจะเรียกว่าเมืองศรีสัชนาลัยเช่นในปัจจุบันก็ได้ครับ


หนึ่งใน 20 พระพุทธรูปปางมาวิชัยปูนปั้น อิทธิพลแบบลังกาในซุ้มรอบฐานประทักษิณของเจดีย์วัดช้างล้อม


 วัดต่อมาคือ วัดเจดีย์เจ็ดแถว”  ที่ทรงวินิจฉัยตามความในจารึก " 1209 ศกปีกุล ให้ขุดพระธาตุออกทางหลายเห็นการทำบูชาบำเรอแก่พระธาตุได้เดือนหาวน จึงเอาลงฝนในกลางเมืองศรีสัชนาไลย ก่อพรเจดีย์เหนือหกจึงแล้วตั้งงวยลงมาล้อมพระธาตุสามเข้าจึ่งแล้ว " เป็นวัดคู่แฝดกับวัดมหาธาตุที่สุโขทัย สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามเช่นเดียวกัน ชื่อของวัดมาจากผู้นำทางแต่งชื่อถวายในครั้งนั้น และได้กลายมาเป็นชื่อที่ใช้เรียกวัดเจดีย์เจ็ดแถวในปัจจุบัน


เจดีย์ประธานวัดเจดีย์เจ็ดแถวในป่ารก  เจดีย์ทรงปราสาท 11 ยอด วัดเจดีย์เจ็ดแถว สรวงในคติเขาพระสุเมรุ
น่าจะสร้างต่อเติมในสมัยอยุธยาตอนปลายมาแล้ว


ทรงมีพระวินิจฉัยให้เจดีย์มุมหนึ่งของวัด เป็น"หลักเมือง" สวรรคโลก เพราะรูปแบบเป็นพระปรางค์ที่แตกต่างไปจากพระเจดีย์องค์อื่น ๆ ในวัดเจดีย์เจ็ดแถว


เมื่อทรงพบเศียรพระศิวะที่ วัดเจ้าจันทน์  ทรงมีพระวินิจฉัยว่าปรางค์วัดเจ้าจันทน์ก็คือโบสถ์พราหมณ์ในศาสนาพราหมณ์เช่นเดียวกับที่วัดพระพายหลวงและวัดศรีสวายที่สุโขทัย  ในภาพถ่ายเก่าปี 2510 ของกรมศิลปากร ปรางค์วัดเจ้าจันทน์ถล่มลงมาทั้งองค์ ต่างจากภาพนี้มาก อาจจะเพราะเหตุ "แผ่นดินไหว" หรือ "การรื้อหาขโมยของเก่า" ก็ได้ครับ


ที่วัดอาวาสใหญ่


ทรงฉายพระรูปคู่กับวัดช้างรอบ เขตอรัญญิกาวาสของเมืองกำแพงเพชร ทรงสันนิษฐานว่า วัดช้างรอบน่าจะเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมธาตุเช่นเดียวกับที่วัดอาวาสใหญ่ใกล้เคียงกัน เพราะเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่
พยายามเขียนให้สั้นที่สุดแล้วครับ แต่ก็เลยมาหลายหน้ากระดาษ ท่านที่สนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์จากภาพถ่ายโบราณก็พยายามอ่านเอานะครับ เนื้อ ๆ ทั้งนั้นแล้ว


ภาพโบราณสุดท้ายที่คัดมา เป็นภาพเหล่าข้าราชบริพารที่ตามเสด็จเมืองสวรรคโลกหรือศรีสัชนาลัย กำลังมะลุมมะตุ้มกับการขุดหาเครื่องสังคโลก เพื่อนำกลับไปพระนครด้วยในคราวเดียวกัน โดยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ กำลังทรงก้มลงจับเครื่องสังคโลกขนาดใหญ่ที่ข้าราชบริพารส่งให้เป็นภาพถ่ายประเภท Show Action แสดงการขุดค้นทางโบราณคดีของประเทศสยาม ซึ่งก็อาจถือได้ว่าเป็นภาพ"การศึกษาทางโบราณคดี" เป็นภาพแรกของประเทศไทยก็ได้ครับ
 
 ขอบคุณภาพ OKnation.net

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น